กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
41
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / กลุ่มดาวนายพราน
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 22, 2011, 03:38:22 PM »
กลุ่มดาวนายพราน หรือ โอไรอัน (อังกฤษ: Orion) เป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียง คนไทยเรียกว่า ดาวเต่า การที่มีดาวฤกษ์สว่างหลายดวงเป็นสมาชิก และมีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้มองเห็นได้ทั่วโลก และอาจเป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดในบรรดากลุ่มดาวบนท้องฟ้า ดาวสามดวงที่ประกอบกันเป็น "เข็มขัดของนายพราน" เป็นดาวที่มีความสว่างปานกลางแต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในซีกโลกเหนือจะสามารถมองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม จากนั้นจะสามารถเห็นได้ในช่วงเช้ามืดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน
ตำแหน่งของกลุ่มดาวนายพรานเทียบกับกลุ่มดาวข้างเคียงสามารถจินตนาการออกมาเป็นภาพได้ดังนี้ : นายพรานโอไรอันยืนอยู่ข้างแม่น้ำเอริดานัส มีหมาล่าเนื้อสองตัวอยู่เคียงข้างคือ คานิสใหญ่และคานิสเล็ก เขากำลังสู้กับวัวเทารัส โดยมีเหยื่ออื่นอยู่ข้างๆ อีกเช่น ลีปัสกระต่ายป่า

กลุ่มดาวนายพรานมีดาวไรเจลเป็นดาวสว่างที่สุด แต่ดาวที่มีชื่อเสียงคือดาวบีเทลจุส ดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสามดวงของดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาว (คือดาวบีเทลจุส ดาวซิริอุส และดาวโปรซิออน) เราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานสำหรับการชี้ดาวต่างๆ ได้มากมาย เช่น ลากจากดาวอัลนิลัม ไป ดาวเมสสา จะชี้ตรงทิศเหนือ ใต้กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวกระต่ายป่า ดาวไรเจลอยู่ติดกับกลุ่มดาวแม่น้ำที่มีดาวอะเคอร์น่าเป็นดาวเด่น (ไม่ได้อยู่ติดกัน) เข็มขัดนายพรานชี้ไปที่ดาวตาวัว (อัลดิบารัน) และถ้าลากจากไรเจลผ่านบีเทลจุสจะได้ดาวคาสเตอร์ เป็นต้น

รายชื่อดาวในกลุ่ม
กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวที่มีดาวฤกษ์สว่างเป็นสมาชิกอยู่มาก มีดาวฤกษ์ในตำแหน่งหลักทั้งสิ้น 8 ชุด มีรายละเอียดดังนี้
λ Ori (ดาวเมสสา) เป็นดาวส่วนหัวของนายพราน
α Ori (ดาวบีเทลจุส) อยู่ที่ไหล่ขวาของนายพราน เป็นดาวยักษ์แดงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าวงโคจรของดาวอังคาร แม้จะได้รหัสว่า อัลฟา (α) แต่ระดับความสว่างก็ยังเป็นรองแก่ดาวไรเจล
γ Ori (ดาวเบลลาทริกซ์) อยู่ที่ไหล่ซ้ายของนายพราน
ζ Ori (ดาวอัลนิแทค), ε Ori (ดาวอัลนิลัม) และ δ Ori (ดาวมินทาคา) ประกอบกันเป็นแนวเส้นที่เป็นที่รู้จักว่า "เข็มขัดของนายพราน" (Orion's Belt) ซึ่งเป็นจุดสังเกตค้นหากลุ่มดาวได้อย่างง่ายที่สุด
η Ori (เอต้า โอไรอัน) อยู่ระหว่างดาวมินทาคากับไรเจล
κ Ori (ดาวไซฟ์) อยู่ที่เข่าขวาของนายพราน
β Ori (ดาวไรเจล) อยู่ที่เข่าซ้ายของนายพราน เป็นดาวสีน้ำเงินขาวขนาดใหญ่ที่สว่างมากที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า มีดาวในระบบดาวสามดวงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ι Ori (ดาวฮัตซยา) อยู่ที่ตำแหน่งยอดดาบของนายพราน
เช่นเดียวกับดาวฤกษ์สว่างดวงอื่นๆ ชื่อ บีเทลจุส ไรเจล ไซฟ์ อัลนิแทค มินทาคา อัลนิลัม ฮัตซยา และเมสสา มีต้นกำเนิดมาจากคำในภาษาอารบิก

การระบุตำแหน่งดาวอื่น
กลุ่มดาวนายพรานมีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ค้นหาตำแหน่งของดาวอื่นๆ เมื่อลากเส้นจากแนวเข็มขัดนายพรานออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะพบดาวซิริอุสในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ถ้าลากต่อออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ จะพบดาวอัลดิบาแรน เส้นตรงที่ลากผ่านไหล่ทั้งสองข้างของนายพรานออกไปทางตะวันออกจะชี้ไปยังตำแหน่งของดาวโปรซิออนในกลุ่มดาวสุนัขเล็ก ถ้าลากเส้นจากดาวไรเจลผ่านดาวบีเทลจุสต่อออกไปจะพบดาวคาสเตอร์กับดาวพอลลักซ์ในกลุ่มดาวคนคู่ นอกจากนี้ ดาวไรเจลยังเป็นดาวสมาชิกดวงหนึ่งของวงกลมฤดูหนาว ส่วนซิริอุสและโปรซิออนเป็นส่วนหนึ่งของทั้งดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาวและวงกลมฤดูหนาว

วัตถุท้องฟ้าในกลุ่มดาว
ใต้ตำแหน่งเข็มขัดของโอไรอันจะเป็นดาบนายพราน บริเวณนี้มีดาวหลายดวงเช่น θ1 โอไรอัน และ θ2 โอไรอัน หรือเรียกชื่อว่า กระจุกดาวทราเปเซียม และเนบิวลานายพราน (M42) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องสองตาช่วย จะสามารถมองเห็นกลุ่มเมฆหมุนวนอยู่รอบๆ รวมถึงแก๊สเรืองแสงและฝุ่น
เนบิวลาที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งคือ IC 434 หรือเนบิวลาหัวม้า ใกล้กับตำแหน่งดาว ζ โอไรอัน เป็นเมฆฝุ่นมืดๆ ที่เกาะกลุ่มเป็นรูปร่างคล้ายหัวม้าอันเป็นที่มาของชื่อ

ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องสำรวจดูรอบๆ บริเวณกลุ่มดาวนายพราน จะสามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอีกมากมายในเขตอวกาศลึกในแถบนี้ เช่น เนบิวลา M43 เนบิวลา M78 รวมถึงระบบดาวอีกหลายกลุ่มรวมถึง ไอโอตาโอไรอัน และซิกมาโอไรอันด้วย ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ขึ้นก็อาจมองเห็นวัตถุบางอย่างเช่น เนบิวลาเพลิง (NGC 2024) ตลอดจนระบบดาวหลายดวงและเนบิวลาขนาดเล็กที่มีแสงจางๆ ได้อีก

เนบิวลาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มเมฆโมเลกูลาร์โอไรอัน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,500 ปีแสง มีความกว้างหลายร้อยปีแสง ถือเป็นย่านกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในดาราจักรของเรา

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99
42
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / ดาวไถ
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 22, 2011, 03:18:35 PM »
ดาวไถ หรือ ดาวเต่า ชาวตะวันตก เรียกว่า Orion ซึ่งแปลว่า นายพราน แต่คนไทยเห็นเป็นไถจึงเรียกว่าดาวไถ โดยมีดาวเต่าล้อมรอบ ซึ่งดาวไถเป็นเข็มขัดของนายพรานและดาวเต่าเป็นตัวนายพราน จะมองเห็นชัดในฤดูหนาวเป็นดวงดาวสามดวงเรียงกัน ถือว่าเป็นกลุ่มดาวที่ดูได้ง่ายในฤดูหนาวจะเห็นได้ชัดกลุ่มดาวไถมีประโยชน์ในการค้นหาดาวอื่น ๆ ซึ่งดาวไถจะอยู่ห่างจากโลกประมาณ 6 ปีแสงและเป็นแหล่งที่มีดาวดวงใหม่เกิดขึ้นมากที่สุดที่ตรงใจกลางดาวไถมีดวงดาวอยู่ถึง 110 ดวง

เวลาที่เห็นได้ชัด
เวลาสามทุ่มของวันที่ 25 มกราคมของทุกปีดาวไถจะอยู่ตรงศีรษะแต่ถ้าอยากดูตอนหัวค่ำต้องดูในเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม

กลุ่มดาวที่อยู่ใกล้
ดาวธง ดาวลูกไก่ ดาวม้า

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%96
43
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / กระจุกดาวลูกไก่
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 22, 2011, 01:24:05 PM »
กระจุกดาวลูกไก่ หรือ กระจุกดาวไพลยาดีส (อังกฤษ: Pleiades) หรือวัตถุเมสสิเยร์ M45 หรือ ดาวพี่น้องทั้งเจ็ด เป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาววัว ประกอบด้วยดาวฤกษ์ระดับ B ที่มีประวัติการสังเกตมาตั้งแต่สมัยกลาง นับเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และอาจเป็นกระจุกดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า

กระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่มีอายุราว 100 ล้านปี แต่เดิมเคยเชื่อว่าเศษฝุ่นที่ทำให้เกิดการสะท้อนแสงจาง ๆ เรืองรองรอบดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดน่าจะเป็นเศษที่หลงเหลือจากการก่อตัวของกระจุกดาว (จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เนบิวลามายา ตามชื่อดาวมายา) แต่ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเพียงฝุ่นเมฆในสสารระหว่างดาวที่ดาวฤกษ์กำลังเคลื่อนผ่านเท่านั้น นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ากระจุกดาวนี้จะมีอายุต่อไปอีกอย่างน้อย 250 ล้านปี หลังจากนั้นก็จะกระจัดกระจายออกไปเนื่องจากปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงที่เกิดจากดาราจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ประวัติการสังเกตการณ์
กระจุกดาวลูกไก่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือและในฤดูร้อนของซีกโลกใต้ โดยเป็นที่รู้จักอย่างดีในตำนานปรัมปราแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก เช่นชาวมาวรี ชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย ชาวจีน ชาวมายา (เรียกกระจุกดาวนี้ว่า Tzab-ek) ชาวแอซเท็กและชาวซิอุคซ์ในทวีปอเมริกาเหนือ นักดาราศาสตร์ชาวกรีกจำนวนหนึ่งจัดว่ากระจุกดาวนี้เป็นกลุ่มดาวเอกเทศเลยทีเดียว มีการอ้างถึงกลุ่มดาวนี้โดยเฮสิออด และปรากฏในมหากาพย์อีเลียดและโอดิสซีย์ของโฮเมอร์ด้วย ในพระคัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึงกระจุกดาวนี้ 3 ครั้ง (ใน โยบ 9:9, 38:31 และอามอส 5: 8) ในตำนานเทพปกรณัมฮินดู นางกฤติกา (เทียบได้กับนางไพลยาดีส) มีความสำคัญในฐานะเป็นมารดาทั้งหกแห่งเทพสงคราม สกันทะ ผู้มีหกพักตร์สำหรับพวกนาง ส่วนเหล่าบัณฑิตชาวอิสลามเรียกกระจุกดาวนี้ว่า อัท-ธุไรยา (At-thuraiya) และว่าเป็นดวงดาวใน Najm ซึ่งมีกล่าวถึงอยู่ในพระคัมภีร์กุรอาน
เป็นที่ทราบมานานแล้วว่า กลุ่มของดาวที่อยู่ใกล้เคียงกันจะต้องมีความสัมพันธ์ทางกายภาพต่อกัน มิใช่เพียงบังเอิญเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน หลวงพ่อจอห์น มิเชลล์ ได้ทำการคำนวณเมื่อ ค.ศ. 1767 ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ดาวสว่างหลายดวงจะบังเอิญมาเรียงตัวในแนวเดียวกับที่เรามองเห็นนั้นมีเพียง 1 ใน 500,000 หลวงพ่อยังได้ทำนายว่ากระจุกดาวลูกไก่และกระจุกดาวอื่นๆ จะต้องมีความเกี่ยวพันกันในทางกายภาพ[4] เมื่อเริ่มมีการศึกษาการเคลื่อนที่เฉพาะของดาวฤกษ์ จึงได้ตรวจพบว่าดาวในกระจุกดาวล้วนเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันและด้วยความเร็วพอๆ กัน เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่าดาวเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกัน
ชาลส์ เมสสิเยร์ ตรวจวัดตำแหน่งของกระจุกดาวลูกไก่และบันทึกเอาไว้ในรายการวัตถุท้องฟ้าของเมสสิเยร์ลำดับที่ M45 ซึ่งเป็นบันทึกรายการวัตถุท้องฟ้าที่ดูคล้ายดาวหาง ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1771 นอกเหนือจากเนบิวลานายพรานและกระจุกดาวรวงผึ้งแล้ว เมสสิเยร์ได้บันทึกกระจุกดาวลูกไก่ไว้เป็นหมายเหตุวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจมาก เพราะวัตถุท้องฟ้าของเมสสิเยร์ส่วนใหญ่จะค่อนข้างจางและมีแนวโน้มที่จะสับสนกับดาวหางได้ง่าย แม้กระจุกดาวลูกไก่จะไม่มีความใกล้เคียงกับดาวหางเลย แต่เมสสิเยร์ก็ทำบันทึกรายการวัตถุท้องฟ้าที่สว่างโดดเด่นเข้าไปด้วยเพื่อให้มีจำนวนรายการของตนมากกว่าของคู่แข่ง คือนิโคลาส์ หลุยส์ เดอ ลาซายล์[5]

เรื่องเล่าในตำนานและวัฒนธรรมพื้นบ้าน
การที่กระจุกดาวลูกไก่สามารถมองเห็นในท้องฟ้ายามค่ำคืนได้อย่างเด่นชัด จึงเป็นที่รู้จักในแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลกนับแต่อดีตกาล ชาวไทยเราเรียกว่า ดาวลูกไก่ หรือ ดาวกฤติกา ชาวญี่ปุ่นเรียก ซุบารุ ชาวจีนเรียก เหม่าซิ่ว (昴宿; หรือกลุ่มดาวคนผมดก) ส่วนชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะบอร์เนียวเรียกว่า บิตังสโกระ ในพระคัมภีร์ไบเบิลยังมีการเอ่ยถึงดาวกลุ่มนี้โดยเรียกชื่อว่า คิมา (Khima) ในวัฒนธรรมอาหรับซึ่งเป็นนักดูดาวมาแต่โบราณ เรียกชื่อดาวกลุ่มนี้ว่า อัล-ทูเรย์ยา (الثريا; al-Thurayya)
แต่ชื่อของกระจุกดาวในทางดาราศาสตร์จะเรียกชื่อในภาษาอังกฤษ ซึ่งตั้งชื่อกลุ่มดาวนี้ตามตำนานกรีก กล่าวคือ ดาวเหล่านี้เป็นตัวแทนของหญิงสาวเจ็ดพี่น้องแห่งไพลยาดีส ขณะที่ตำนานชาวไวกิงบอกว่าดาวเหล่านั้นคือแม่ไก่ทั้งเจ็ดตัวของเฟรย์ยา ชื่อของกระจุกดาวในภาษาโบราณของทางยุโรปหลายๆ แห่งจะมีความหมายว่า แม่ไก่กับลูกไก่ ซึ่งคล้ายคลึงกับตำนานของไทย
นิทานดาวลูกไก่ในตำนานไทยเล่าว่า มีตายายคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านมา คิดจะหาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากอยู่ในป่าไม่มีอาหารดีๆ จึงหารือกันจะฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้เพื่อไปทำอาหารถวาย แม่ไก่ได้ยินก็สั่งเสียลูกไก่ทั้งหกตัวให้รักษาตัวให้ดี ตัวเองต้องแทนคุณตายายที่เลี้ยงดูมา เมื่อถึงเวลาตายายฆ่าแม่ไก่ ลูกไก่ก็กระโดดเข้าเตาไฟตายตามแม่ไปด้วย เทพยดาเห็นแก่ความกตัญญู จึงให้แม่ไก่และลูกไก่ทั้งหมดขึ้นไปเป็นดาวอยู่บนฟ้าเพื่อเตือนใจคน[13]
ในยุคสำริดของยุโรป ชาวยุโรปบางส่วนเช่นชาวเคลต์หรือวัฒนธรรมอื่นก่อนหน้านั้น เชื่อว่ากระจุกดาวนี้เกี่ยวข้องกับความอาลัยและงานศพ ในอดีตจะมีงานเทศกาลช่วงวันระหว่างวันศารทวิษุวัตจนถึงวันเหมายัน (ดู วันฮัลโลวีน หรือวันแห่งจิตวิญญาณ) เป็นเทศกาลเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ กระจุกดาวนี้จะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าด้านตะวันออกหลังจากตะวันลับขอบฟ้า เหตุนี้กระจุกดาวลูกไก่จึงมักให้ความรู้สึกถึงน้ำตาและความเศร้าโศก
การปรากฏของดวงดาวบนฟ้ามักใช้เป็นจุดสำคัญเพื่อกำหนดระยะเวลาตามปฏิทินของมนุษย์ในสมัยก่อน[14] การปรากฏบนฟ้าของกระจุกดาวลูกไก่ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ถือเป็นการขึ้นปีใหม่สำหรับชาวมาวรีในนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกกระจุกดาวนี้ว่า มาตาริกิ (แปลว่าดวงตาดวงเล็ก ๆ[15]) มีวันหยุดลักษณะคล้ายกันนี้สำหรับชาวฮาวายด้วย เรียกว่าวัน Makaliʻi ชาวแอสแตคโบราณในเม็กซิโกและอเมริกากลางมีปฏิทินของพวกเขาที่อ้างอิงตามกระจุกดาวลูกไก่ โดยเริ่มนับปีใหม่เมื่อพวกนักบวชมองเห็นดาวเรียงเด่นปรากฏขึ้นบนฟากฟ้าตะวันออก ก่อนที่แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์จะลับหายไป ชาวแอสแตคเรียกกระจุกดาวนี้ว่า Tianquiztli (แปลว่า "ตลาด")

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88



44
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / เรื่องเล่า ดาวจระเข้
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 21, 2011, 04:45:36 PM »
มีเศรษฐี คนหนึ่ง ร่ำรวย มหาศาล มีเงิน มีทองก็เก็บไว้ไม่ยอมใช้
กระเหม็ดกระเหม่ จะใช้จะจ่ายก็คิด สิบ ยี่สิบตลบ
ลูกหลานญาติมิตรก็ไม่เคยจะช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น
เข้าวัดทำบุญทำทานก็อย่าหวังว่าจะคิดทำกับเค้า
ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน กอดเงินกอดทอง
แม้ยามนอนก็นอนสะดุ้ง กลัวใครจะมาลักขโมยเอาไป
ในที่สุดเศรษฐี ขี้งกก็ต้องเป็นอันล้มหายตายจากโลกนี้ไป
 
แต่ก่อนตาย เศรษฐีได้แอบเอาเงินเอาทองไปฝังเอาไว้ที่หัวสะพาน
ด้วยกรรมที่ไม่เคยทำบุญ เศรษฐีก็ไปเกิดใหม่เป็นจระเข้ใหญ่
มาว่ายวนเวียนอยู่หัวสะพาน เพราะหวงสมบัติที่ตัวเองได้ฝังเอาไว้ แต่ก็ไม่ทำร้ายใคร
ในขณะที่ชาวบ้านพากันประหวั่นพรั่นพรึง กลัวกันหัวหดตดสั่น
เล่าลือกันไปทั่ว อย่างรวดเร็วในชาวบ้านละแวกนั้น
ชาวบ้านจะข้ามสะพานก็ไม่กล้าข้าม
 
อยู่มาคืนหนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีฝันว่า จระเข้ใหญ่ตัวนั้น ก็คือ ท่านเศรษฐี บิดาของตนเอง
ที่ว่ายวนเวียนไปมา เพราะว่า หวงแหนสมบัติที่ตนเองนั้นได้ฝังเอาไว้
และได้บอกแก่ลูกสาว ให้ไปขุดเอามาใช้จ่าย ทำบุญ ทำกุศล ตนจะได้เลิกห่วงซะที
พอตกเช้า ลูกสาวตื่นขึ้นมา จึงไปขุดดินที่หัวสะพาน ตามที่ฝัน
ก็ปรากฏว่าเป็นความจริง ได้พบสมบัติมากมายมหาศาล ดังที่พ่อ หรือจระเข้ มาเข้าฝัน
ลูกสาวเศรษฐี เห็นเป็นดังนั้นแล้ว จึงสำนึกถึงกรรมของพ่อที่ไม่ยอมทำบุญทำทาน มัวแต่หวงแหนสมบัติ
 
ลูกสาวเศรษฐีคนนั้น จึงได้นำสมบัติส่วนหนึ่งไปทำบุญทอดกฐิน
เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุลศลให้แก่พ่อที่ต้องมาทนรับบาป 
เป็นจระเข้หวงสมบัติอยู่เช่นนี้
และในการทอดกฐินครั้งนั้น ได้ทำธงรูปจระเข้ อยู่ในขบวนทอดกฐินด้วย
เพื่อเป็นตัวแทนของท่านเศรษฐี ว่า
เศรษฐีขี้เหนียวก็คือจระเข้ใหญ่ตัวนี้  ได้ร่วมทำบุญ กับชาวบ้านชาวเมืองแล้ว
ดังนั้นแล้ว เวลาทอดกฐิน ชาวไทยจึงได้ทำธงรูปจระเข้ นำขบวนไปทอดกฐินอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
 
บุญกุศลที่ได้ทำครั้งนั้นยิ่งใหญ่นัก เมื่อจระเข้ตัวนั้นได้ล่วงลับดับชีวิตไปแล้ว
เศรษฐีหรือจระเข้ตัวนั้นได้ไปเกิดเป็นดาวจระเข้
ซึ่งมีให้เห็นจวบจนทุกวันนี้ เพื่อให้ชาวบ้านหรือชาวพุทธได้ระลึกเป็นอุทาหรณ์สอนใจอยู่เสมอว่า
"อย่ามัวแต่หวงแหนสมบัติ  จนลืมทำบุญทำทาน"
เดี๋ยวตายไปจะไปเกิดเป็นจระเข้เหมือนอย่างท่านเศรษฐี

ที่มา:
http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=36414

45
กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับคัลลิสโตในเทพนิยายกรีก ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด 7 ดวง ทำให้เกิดดาวเรียงเด่นซึ่งคนไทยเรียกว่า ดาวจระเข้ คนลาว เรียกว่า ดาวหัวช้าง ในสหราชอาณาจักรเรียกว่า คันไถ ในจีนและอเมริกาเหนือ เรียกว่า กระบวยใหญ่
กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวสำคัญ ช่วยชี้หาดาวเหนือได้ โดยไล่จากขาหน้าขวา (βUMa) ไปทางขาหน้าซ้าย (αUMa) เลยออกไปอีกประมาณ 5 ช่วง นอกจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ ยังมีอีกกลุ่มที่ใช้หาดาวเหนือได้คือ กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย หรือดาวค้างคาว

สำหรับคนในซีกโลกเหนือ กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่มองเห็นได้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับดาวเหนือ แต่ในทางกลับกันเนื่องจากเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ในซีกฟ้าเหนือ ผู้ที่อาศัยอยู่ทางซีกโลกใต้มาก ๆ จะเห็นได้ลำบาก เพราะตำแหน่งดาวบนทรงกลมท้องฟ้า จะอยู่ใต้พื้นโลกเกือบตลอดเวลา

--------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มดาวที่มนุษย์รู้จักดีที่สุด และใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือ กลุ่มดาวจระเข้ ดาวกลุ่มนี้มี 7 ดวง มีลักษณะคล้ายกระบวยตักน้ำ 4 ดวงเป็นตัวกระบวย อีก 3 ดวง เป็นด้าม ชาวจีนและชาวยุโรปเขาเห็นเป็นรูปกระบวย จึงเรียกกลุ่มดาวกลุ่มนี้ว่า “กระบวยใหญ่” (Big Dipper) ชาวกรีกซึ่งเป็นดินแดนแห่งเทพนิยายอันเกี่ยวกับ ดวงดาวต่าง ๆ เห็นเป็น “หมีใหญ่” (Ursa Major)  คนไทยเห็นเป็น “จระเข้” ทั้งกรีกและไทย เห็นเหมือนกันอยู่ 1 อย่างคือ เห็นดาว 3 ดวง ทางด้ามกระบวยเป็นหางหมี และหางจระเข้เหมือนกัน

นานมาแล้ว มีนิยายเล่ากันต่อ ๆ มาว่า หมีเป็นสัตว์ที่โง่เขลา ไม่รู้จักวิธี ทำให้อบอุ่น ในฤดูหนาว และมักจะร้องทุกข์เรื่องต่อพระเจ้าอยู่เสนอ ว่ามันรู้สึกหนาวเย็นที่จมูก และอุ้มเท้าอย่างยิ่ง ดังนั้นพระเจ้าจึงแนะนำวิธี ทำให้อบอุ่นในหน้าหนาวแก่มันด้วยการ แนะนำให้จำศีลโดยขุดรูอยู่ในถ้ำ ตั้งแต่นั้นมาพวกหมีก็รู้จักวิธีเตรียมตัว ผจญกับ ความหนาวเย็น โดยจำศีลในหน้าหนาวอยู่ในถ้ามาจนบัดนี้ พระเจ้าได้นำหมีใหญ่และหมีเล็ก ขึ้นไปไว้บนท้องฟ้าใกล้ ๆ กับดาวเหนือ ซึ่งเป็นปากถ้า แล้วพระเจ้าได้บันดาลให้ หมี 2 ตัวนี้ เคลื่อนที่รอบดาวเหนือ คือเราจะเห็นกลุ่มดาวหมีได้ตั้งแต่หัวค่ำ แสดงว่าหมีไม่ได้จำศีล ตอนนั้นจะเป็นฤดูร้อนของซีกโลกฝ่ายเหนือ เมื่อกลุ่มดาวเหนือ อยู่ท้องฟ้าซีกล่าง คือดาวหมีจะเริ่มขึ้นเมื่อใกล้สว่าง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นเวลาที่หมีจำศีล อยู่ในถ้ำ ขณะนั้นจะตรงกับฤดูหนาวของซีกโลกฝ่ายเหนือ

การหากลุ่มดาวจระเข้นั้นง่ายมาก กลุ่มดาวนี้จะอยู่ทางทิศเหนือ เมื่อเริ่มขึ้นจะเริ่มขึ้น ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตกทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แต่การขึ้นและตกนั้นเปลี่ยนไปตามฤดูกาล คือเดือนมกราคมจะขึ้นตั้งแต่เที่ยงคืนเศษ เวลาตี 2 จะเห็นครบ 7 ดวง ก่อนสว่างจะเห็นอยู่ทางขอบฟ้าทิศเหนือ เห็นเป็นรูปกระบวยคว่ำ ในเดือน เมษายนระหว่างโรงเรียนปิดเทอมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่หัวค่ำ พอใกล้สว่างจะตก เดือนพฤษภาคมพอเริ่มมือจะเห็นครบ 7 ดวงเต็ม เป็นรูปกระบวยใหญ่ พอตี 3 ครึ่ง จะเริ่มตก พอปลายเดือนมิถุนายนเริ่มมืด จะเห็นดาวจระเข้หรือกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ อยู่กลางท้องฟ้าทางทิศเหนือ พอเดือนสิงหาคมเริ่มมืดจะเห็นกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ อยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ หันเอาปากกระบวยลง เอาด้านกระบวยชี้ฟ้า พอปลาย เดือนกันยายนเริ่มมืด กลุ่มดาวกระบวยใหญ่ก็เริ่มตกเวลาและเดือน ดังกล่าวข้างต้น ใช้ได้ตลอดกาล คือจะเป็นดังกล่าวทุกปีไม่มีเปลี่ยนแปลง

ดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการหาทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจาก กลุ่มดาวนี้ เราใช้หาดาวเหนือ (Polaris) ได้  ดาว 2 ดวง ตรงปากกระบวยชื่อ Dubhe และ Merek ซึ่งเรียกว่าเครื่องชี้ (Pointer) ดาว 2 ดวงนี้ห่างกัน 5๐ ถ้าลากเส้นตรง จากดาว 2 ดวงนี้ จะชี้ไปที่ ดาวเหนือ นับจากดาว Dubhe ไปราว 5 หน่วย จะถึง ดาวเหนือพอดี ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับดาวเหนือ มีดาวที่สว่าง สุกใสอยู่ดาวเดียว คือ ดาวเหนือ จึงสังเกตได้ง่าย

ขอให้สังเกตดู ดาวเหนือ ซึ่งเป็นปลายด้านของกระบวยเล็ก ในคืน เดือนมืดสนิท จะสังเกตเห็นได้ ขอให้ท่านจงใช้ความพยายามเป็นพิเศษ หาดาวเหนือให้พบ เมื่อพบแล้วท่านจำไว้ว่า ท่านยืนอยู่ใกล้อะไร และยกสายตาขึ้นประมาณกี่องศา ต่อไปจะเป็นคืนไหน ฤดูอะไร มายืนอยู่ที่เก่ายกสายตาขึ้นเท่าเก่า  จะเห็นดาวเหนือเสมอ ถึงแม้เราจะเห็นดาวจระเข้หรือไม่ก็ตาม ถ้ายืนอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บน เส้นรุ้งที่ 14 แต่ถ้าไปยืนดูที่เชียงใหม่ จะเห็นอยู่สูงเกือบ 19 องศา จากขอบฟ้าและถ้าไปยืนดู ที่แถวจังหวัดสงขลา นราธิวาส จะเห็นอยู่สูง จากขอบฟ้าประมาณ 6 องศาเท่านั้น

ดาวเหนือ (Polaris) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับชั้นที่ 2 อยู่ห่างจาก โลกเป็น ระยะทาง 465 ปีแสง (แสงเดินได้เร็ววินาทีละ 186,000 ไมล์ หรือ 300,000 กิโลเมตร) แสดงว่าดาวเหนืออยู่ไกลจากโลกมาก ไกลขนาดแสง เดินยังกินเวลาถึง 465 ปี ดาวเหนือนี้มีความสว่างจริงสว่างกว่าดวงอาทิตย์ ถึง 2,500 เท่า แต่เนื่องจากอยู่ไกล เราจึงเห็นบนท้องฟ้าไม่สว่างนัก

พูดถึงดาวจระเข้ ทำให้นึกถึงบทกลอนดอกสร้อยบทหนึ่งของไทยเรา คือ

“สักวาดาวจระเข้ก็เหหก                     ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว           น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ            ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร้าร้อง                     ดูแสงทองจับขอบฟ้าขอลาเอย”

สักวาบทนี้มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อใกล้สว่างดาวจระเข้ก็เหหก ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว กลุ่มดาวจระเข้อยู่ทางขอบฟ้าทิศเหนือ เมื่อเริ่มขึ้น จะเห็นทางด้านตัวกระบวย (ด้านหัวจระเข้) โผล่ขึ้นมาทาง ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วค่อยๆ เคลื่อนไปทางขอบฟ้า ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยจะหันเหเอาด้านตัวกระบวยหรือหัวจระเข้ เคลื่อนที่ไป เมื่อกลุ่มดาวกลุ่มนี้ เคลื่อนที่มาตรงขอบฟ้าทิศเหนือ จะเห็นเป็นรูปกระบวยคว่ำลง เมื่อใกล้จะตก จะเห็นกลุ่มดาวกลุ่มนี้หันเอาด้าน ตัวกระบวยหรือหัวจระเข้ปักลงไปทางขอบฟ้าก่อน ด้วยเหตุนี้คนโบราณ (โดยเฉพาะคนไทย) จึงใช้ดาวกลุ่มนี้เป็นเครื่องบอกเวลาได้ โดยสังเกตจากการหันเหของดาวกลุ่มนี้ ถ้าเริ่มขึ้นจะเอาหัวจระเข้ชี้ไปทาง กลางฟ้า พอใกล้จะตกจะเอาหัวปักขอบฟ้า เอาหางชี้ฟ้า

เนื่องจากกลุ่มดาวจระเข้เป็นกลุ่มดาวบอกเวลาได้ คนไทยใช้ดาวกลุ่มนี้ บอกเวลา ได้หลายอย่างเช่น ถ้าเห็นดาวจระเข้อยู่กลางท้องฟ้า เมื่อเริ่มมืด (ราวปลายเดือนมิถุนายน) แสดงว่าชาวนากำลังดำนา ชาวไร่ปลูกพืชไร่ ในหน้าฤดูเข้าพรรษา ดาวจระเข้จะขึ้นตอนเช้ามืด การไปทอดกฐินของไทย สมัยก่อน เคลื่อนองค์กฐินกันตั้งแต่ก่อนสว่าง อาศัยดูเวลาจากดาวจระเข้ ฉะนั้นสมัยนี้ เวลาไปทอดกฐิน เขาจึงต้องเอาธงจระเข้ไปปักไว้หน้าวัด เพื่อเป็น เครื่องระลึกถึง ประโยชน์ของกลุ่มนี้ เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรลองถามผู้ใหญ่ดูก็ได้

กลุ่มดาวจระเข้นี้ แต่ละชาติต่างก็เห็นแตกต่างกันออกไป เช่นชาวบาบิโลเนียน เห็นคล้ายรถเข็นให้เด็กนั่ง ชาวอียิปต์เห็นคล้ายขาหลังข้างซ้ายของวัว ชาวสเปนเห็นคล้ายเขาสัตว์สำหรับเป่า ชาวญี่ปุ่นเห็นคล้ายราชรถ ชาวอินเดียแดงเห็นคล้ายเรือบรรทุกของชาวอาหรับเห็นคล้ายล้อเลื่อน บรรทุกของ ชาวอิหร่านและชาวอังกฤษเห็นเป็นคันไถ ส่วนชาวจีนและ ชาวยุโรปอเมริกาทั่วๆ ไปเห็นคล้าย กระบวย ชาวกรีก ชาวคาลเดียนเห็น เป็น หมีใหญ่ สำหรับคนไทยทั่ว ๆ ไปเห็นเป็นจระเข้ เมื่อแต่ละชาติเห็น แตกต่างกันเช่นนี้ แต่ละชาติก็มีนิยายเกี่ยวกับ กลุ่มดาวนี้แตกต่างกันออกไป นิยายดาวที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นนิยายที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นเทพนิยายที่ แพร่หลายตรงกันเกือบทั่วโลก ชาวคาลเดียน ชาวกรีก และพวกอินเดียนแดง เผ่าดั้งเดิมในสหรัฐอเมริกา เห็นกลุ่มดาวจระเข้เป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มดาวในบริเวณกลุ่มจระเข้ และบริเวณใกล้ ๆ ดาวเหนือ ไม่มีเส้นที่เชื่อมกลุ่มดาวแล้วเห็นเป็นหมีใหญ่หมีเล็กได้เลย แล้วหมีสองตัวนี้มาจากไหนขอตอบว่ามาจากนิยายปรัมปราเป็นเรื่องเก่าแก่ เล่ากันต่อ ๆ มาตั้งแต่มีเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งไม่มีตัวตนจริงแต่อย่างใด ตามนิยายกล่าวว่า

เทพบดีจูปีเตอร์ (พฤหัสบดี) เกิดหลงรักพระนางคาลลิสโต (Callisto) บุตรีของพระเจ้าไลแคนอน (Lycanon) กษัตริย์แห่งอาร์เดีย จอมเทพจูปีเตอร์ ได้แปลงร่างพระนางคาลลิสโตเป็นหมี เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจาก ความริษยาของพระนางจูโน แต่พระนางคาลลิสโตก็เกือบถูกบุตรชาติของ พระนางเอง ชื่ออาร์แคล (Arcas) ฆ่าตาย เพราะไม่รู้ว่าหมีนั้นคือแม่ของตน และเพื่อขจัดความยุ่งยากอื่น ๆ ซึ่งอาจมีขึ้น จอมเทพจูปีเตอร์จึงแปลงร่าง อาร์แคลผู้เป็นบุตร เป็นหมีเล็ก เอาขึ้นไปไว้บนสวรรค์ ใกล้ ๆ หมีแม่ของของเอง



ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88
http://phuketindex.com/travel/photo-stories/other/s-star/ursamajor.htm



46
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / เนบิวลาสะท้อนแสง
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 21, 2011, 11:49:59 AM »
เนบิวลาสะท้อนแสง (อังกฤษ: Reflection nebula) คือกลุ่มเมฆฝุ่นที่สะท้อนแสงของดาวฤกษ์หรือกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง พลังงานจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงมีไม่เพียงพอจะสร้างประจุให้แก๊สในเนบิวลาเพื่อสร้างเนบิวลาแบบเรืองแสง แต่มากพอจะช่วยให้เกิดการกระเจิงแสงกับอนุภาคฝุ่นทำให้สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น ความถี่สเปกตรัมของเนบิวลาสะท้อนแสงจึงคล้ายคลึงกับดาวฤกษ์ที่ส่องแสงสว่างมาให้ อนุภาคขนาดเล็กที่ทำให้เกิดการกระเจิงแสงได้แก่ อนุภาคองค์ประกอบคาร์บอน (เช่นฝุ่นของเพชร) และองค์ประกอบธาตุอื่นๆ เช่นเหล็ก และนิเกิล สองอย่างหลังนี้มักพบในแนวสนามแม่เหล็กของดาราจักรและทำให้เกิดการกระเจิงของแสงในทิศทางขั้วแม่เหล็ก เอ็ดวิน ฮับเบิล เป็นผู้แรกที่สามารถแยกแยะเนบิวลาสะท้อนแสงกับเนบิวลาแบบเรืองแสงได้ในปี ค.ศ. 1922

เนบิวลาสะท้อนแสงมักเห็นเป็นสีน้ำเงิน เนื่องมาจากการกระเจิงของแสงเกิดในช่วงแสงสีน้ำเงินได้ดีกว่าช่วงแสงสีแดง (เป็นกระบวนการเดียวกันกับที่ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน และเห็นอาทิตย์อัสดงเป็นสีแดง)

เรามักพบเห็นเนบิวลาสะท้อนแสงกับเนบิวลาเรืองแสงอยู่ด้วยกัน บางครั้งก็เรียกรวมกันว่า เนบิวลาสว่าง (Diffuse nebula) ตัวอย่างหนึ่งของเนบิวลาลักษณะนี้คือ เนบิวลานายพราน
47
กำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะดำเนินมาตั้งแต่ประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน โดยเริ่มจากการแตกสลายด้วยแรงโน้มถ่วงภายในของเมฆโมเลกุลขนาดยักษ์ มวลส่วนมากในการแตกสลายครั้งนั้นได้กระจุกรวมกันอยู่บริเวณศูนย์กลาง และกลายมาเป็นดวงอาทิตย์ มวลส่วนที่เหลือวนเวียนโดยรอบมีรูปร่างแบนลง กลายเป็นจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย และวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ ในระบบสุริยะ

แบบจำลองดังกล่าวมานี้ถือเป็นแบบที่ได้รับการยอมรับทั่วไป เรียกชื่อว่า สมมุติฐานเนบิวลา มีการพัฒนาแบบจำลองนี้ขึ้นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดย เอมมานูเอล สวีเดนบอร์ก อิมมานูเอล คานท์ และ ปีแยร์-ซีมง ลาปลาซ การวิวัฒนาการในลำดับถัดมาเกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายแขนง เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ นับแต่ยุคเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศในคริสต์ทศวรรษ 1950 และการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบในคริสต์ทศวรรษ 1990 แบบจำลองนี้ได้ถูกท้าทายและผ่านการปรับแต่งมาอีกหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการค้นพบใหม่ๆ

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0#.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B8.81.E0.B9.88.E0.B8.AD.E0.B8.95.E0.B8.B1.E0.B8.A7

48
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / เนบิวลาก่อนสุริยะ
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 21, 2011, 11:37:04 AM »
เนบิวลาก่อนสุริยะ
ตามสมมุติฐานว่าด้วยเนบิวลา ระบบสุริยะก่อตัวขึ้นจากการแตกสลายของแรงโน้มถ่วงภายในของพื้นที่ส่วนหนึ่งในเมฆโมเลกุลยักษ์ซึ่งมีขนาดกว้างหลายปีแสง เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนยังมีความเชื่อกันว่า ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ แต่การศึกษาอุกกาบาตเก่าแก่บ่งชี้ถึงร่องรอยไอโซโทปอายุสั้นเช่น iron-60 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการระเบิดของดาวฤกษ์อายุน้อยเท่านั้น หลักฐานนี้จึงบ่งชี้ว่าเคยมีซูเปอร์โนวาเกิดขึ้นใกล้ดวงอาทิตย์ขณะที่มันกำลังก่อตัว คลื่นกระแทกจากซูเปอร์โนวาเหล่านี้อาจช่วยจุดชนวนการก่อตัวของดวงอาทิตย์ขึ้นโดยทำให้เกิดย่านความหนาแน่นสูงภายในเมฆโมเลกุล และทำให้ย่านนั้นแตกสลายลง และเนื่องจากซูเปอร์โนวาจะเกิดขึ้นได้จากดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลมาก ดังนั้นดวงอาทิตย์จะต้องก่อตัวจากย่านกำเนิดดาวขนาดใหญ่ซึ่งสามารถสร้างดาวฤกษ์มวลมากได้ บางทีย่านนั้นอาจจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเนบิวลานายพรานก็ได้

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0#.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B8.81.E0.B9.88.E0.B8.AD.E0.B8.95.E0.B8.B1.E0.B8.A7

49
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / เนบิวลาบึ้ง
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 21, 2011, 11:35:29 AM »
เนบิวลาบึ้ง หรือ เนบิวลาทารันทูลา (อังกฤษ: Tarantula Nebula ; หรือรู้จักในชื่อ 30 โดราดัส หรือ NGC 2070) เป็นบริเวณเอช 2 ที่อยู่ในเมฆแมเจลแลนใหญ่ เดิมเคยคิดว่ามันเป็นดาวฤกษ์ จวบกระทั่ง พ.ศ. 2294 นิโคลาส์ หลุยส์ เดอ ลาซายล์ จึงตรวจพบว่ามันมีลักษณะโดยธรรมชาติเป็นแบบเนบิวลา
เนบิวลาบึ้งมีค่าโชติมาตรปรากฏเท่ากับ 8 เมื่อคำนึงถึงระยะห่างของมันที่อยู่ห่างออกไปถึง 180,000 ปีแสง ถือได้ว่าเป็นวัตถุที่มีความสว่างสูงมาก มันส่องสว่างมากเสียจนถ้าหากมันอยู่ใกล้โลกในระยะเดียวกับเนบิวลานายพราน ก็อาจทำให้เกิดเงาแสงขึ้นได้ทีเดียว เนบิวลาบึ้งเป็นย่านดาวระเบิดที่มีกระบวนการสูงที่สุดเท่าที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มดาราจักรท้องถิ่น มันยังเป็นย่านที่ใหญ่ที่สุดและมีการกำเนิดดาวมากที่สุดในกลุ่มท้องถิ่นโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณถึง 200 พาร์เซก ที่ใจกลางของมันเป็นกระจุกดาวที่เล็กมากแต่หนาแน่นมาก (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 พาร์เซก) คือกระจุกดาว R136a อันเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานมหาศาลที่ทำให้เนบิวลานี้สว่างไสว

ซูเปอร์โนวาที่ใกล้ที่สุดเท่าที่ตรวจพบหลังจากการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ คือ ซูเปอร์โนวา 1987A ก็เกิดขึ้นที่บริเวณขอบของเนบิวลาบึ้งแห่งนี้

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%87
50
ดาราศาสตร์ และดวงดาวต่าง ๆ ใน Solar System / เนบิวลามืด
« กระทู้ล่าสุด โดย inbudgetadmin เมื่อ กรกฎาคม 21, 2011, 11:32:45 AM »
เนบิวลามืด คือ ก๊าซและฝุ่นผง จะมารวมตัวกันและอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ ดังนั้นเนบิวลามืดจึงไม่มีการสะท้อนแสงจากดาวดวงใดเลยจึงมืดและบดบังกาแลกซีด้านหลัง

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10