สุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เป็นปรากฎการณ์สุริยุปราคาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้คำนวณปรากฎการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้าถึงสองปี และทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนี้กับราชอาคันตุกะยังบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนได้ชื่อว่า "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ส่วนประชาคมดาราศาสตร์สากลได้เรียกสุริยุปราคาในครั้งนี้ว่า "King of Siam's eclipse" (อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม) เหตุการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่การค้นพบธาตุฮีเลียม โดย ปิแอร์ จองส์ชอง กัปตันบุลล็อกได้สเก็ตช์ลักษณะของโคโรนาของดวงอาทิตย์ ขณะสังเกตการณ์จากทะเลเซลีเบส
การคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการคำนวณสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1.คำนวณหาตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ
2.คำนวณเพื่อตรวจสอบว่า จะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่
3.คำนวณว่าการเกิดอุปราคาจะมีลักษณะอย่างไร จะเห็นได้ที่ไหน และเวลาเท่าไรถึงเท่าไรตามระบบเวลามาตรฐาน
พระองค์ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึงสองปี ว่าเส้นศูนย์ของอุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ ตรงละติจูด 11 องศา 38 ลิปดาเหนือ และลองติจูด 99 องศา 39 ลิปดาตะวันออก สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นนานที่สุดอยู่ตรงเชิงเขาหลวง โดยที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีอยู่ในหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิซแต่อย่างใด ฝ่ายการคำนวณของกรีนิซนั้นแสดงเฉพาะแนวศูนย์กลางของการพาดผ่านของเงามืดเพียงเส้นเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่าอุปราคานั้นจะเห็นมืดทั้งดวงตั้งแต่ชุมพรถึงปราณบุรี นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งก็ได้ทำนายสุริยุปราคาคราวนี้ด้วยเช่นกัน แต่คำนวณผิดพลาดไป 2 นาที
การค้นพบฮีเลียมนักดาราศาสตร์ ปิแอร์ จองส์ชอง สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้จากคุนตูร์ รัฐไอเดอราบัด ประเทศอินเดีย นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแดงนับตั้งแต่ทฤษฎีของเคอร์ชอฟฟ์ซึ่งเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2402 ว่า เส้นฟรอนโฮเฟอร์ในสเปกตรัมของดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับแถบเปล่งแสงของธาตุเคมีต่างชนิดที่มีอยู่ในดวงอาทิตย์ จองส์ชองสังเกตการณ์สุริยุปราคาดังกล่าวด้วยสเปกโตรมิเตอร์ เขาสังเกตพบแถบสีเหลืองสว่าง (ความยาวคลื่น 587.49 นาโนเมตร) ในสเปกตรัมของเปลวสุริยะซึ่งไม่อาจเป็นธาตุโซเดียมอย่างที่เคยสันนิษฐานไว้เดิมได้ และในภายหลัง ก็สามารถสังเกตพบแถบเดิมโดยไม่จำเป็นต้องสังเกตในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาขึ้นก่อน ผลแบบเดียวกันยังถูกพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ นอร์แมน ล็อกเยอร์ และทั้งการสื่อสารของจองส์ชองและล็อกเยอร์ถูกนำเสนอไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2411
บดบังมากที่สุดระยะเวลา 6 นาที 47 วินาที
พิกัด 10.6N 102.2E
ความกว้างของเงามืด 245 กิโลเมตร
ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87_18_%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2411