ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารอวกาศ  (อ่าน 48422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
อาหารอวกาศ
« เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 03:25:05 PM »
เวลาที่เราดูข่าวหรือสารคดีเกี่ยวกับนักบินอวกาศของนาซาและรัสเซียที่ออกเดินทางไปกับกระสวยอวกาศและที่อาศัยอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งโคจรอยู่ในวงโคจรรอบโลก ท่านผู้อ่านเคยนึกสงสัยไหมครับว่านักบินอวกาศบนนั้นจะใช้ชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารที่ดูเหมือนเป็นสิ่งยากลำบากในสภาวะไร้น้ำหนักเช่นนั้น

ความเป็นมา
นับจากจอห์น เกลน นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปกับจรวดในภารกิจอวกาศมาจนถึงเหล่านักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติในทุกวันนี้ งานค้นคว้าวิจัยด้านโภชนาการสำหรับโครงการอวกาศพัฒนามาจนถึงจุดที่นักบินอวกาศมีอาหารที่มีรสชาติถูกปาก บรรจุในหีบห่อที่สะดวกในการรับประทาน
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของการเตรียมอาหารอวกาศ เราต้องนึกย้อนไปถึงนักสำรวจในยุคอดีตที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ขณะเดินทางไกลทั้งทางบกและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกอาหารให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ อาหารต้องพร้อมที่จะรับประทานได้อยู่เสมอตลอดการเดินทาง และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดวิตามิน เช่น โรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ที่เกิดจากการได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ

ในต้นยุคประวัติศาสตร์ มนุษย์ค้นพบเทคนิคการถนอมอาหารด้วยการทำให้แห้งและเก็บในภาชนะที่แห้งและเย็น การขจัดน้ำออกจากอาหาร ทำโดยการแล่เนื้อ ปลา และผลไม้บางชนิดออกเป็นแผ่นบางแล้วนำไปผึ่งแดด นอกจากนี้ก็มีการถนอมอาหารโดยการดองด้วยการคลุกกับเกลือหรือแช่ในน้ำเกลือ เป็นต้น
เทคนิควิธีการถนอมอาหารพัฒนาต่อมาเป็นการเก็บอาหารในภาชนะปิดสนิท การพาสเจอร์ไรส์ (ใช้ความร้อนทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้) และการบรรจุลงในกระป๋อง ทำให้ปัจจุบันมีอาหารหลายชนิดที่สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน เทคโนโลยีล่าสุดในการถนอมอาหาร คือ การแช่เย็น และการแช่แข็งอย่างฉับพลัน (quick-freezing) ซึ่งทำให้สามารถคงสภาพของรสชาติและสารอาหารอยู่ได้

รูปแบบการถนอมและการบรรจุอาหารดังที่กล่าวมานี้ใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพสำหรับเราๆ ท่านๆ บนพื้นโลก แต่ยังไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการใช้งานในอวกาศ มีข้อจำกัดบางประการที่ต้องคำนึงถึงในขั้นตอนการขนส่ง คือ น้ำหนักและปริมาตร นอกจากนั้นอุปสรรคที่ใหญ่กว่า คือ สภาวะไร้น้ำหนัก (ถ้าให้ถูกต้อง น่าจะเรียกว่าสภาวะความโน้มถ่วงต่ำ) จึงต้องมีกระบวนการพิเศษในการเตรียมอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา

โครงการเมอร์คิวรี
โครงการเมอร์คิวรีเป็นโครงการทดสอบการบินในยุคแรกของโครงการอวกาศ การขึ้นบินแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน อาจเพียงไม่กี่นาทีจนถึงไม่เกินหนึ่งวัน ภารกิจที่สั้นเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมอาหารสำหรับทุกๆ มื้อ อย่างไรก็ดี นักบินในโครงการเมอร์คิวรีได้กลายเป็นหนูทดลองในการทดสอบสรีรวิทยาการกินของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่มีความโน้มถ่วงต่ำ เช่น การเคี้ยว การดื่ม การกลืนอาหารทั้งอาหารปกติและอาหารเหลว
อาหารสำหรับนักบินอวกาศในยุคแรก เป็นอาหารแห้งกึ่งสำเร็จรูป และอาหารกึ่งเหลวที่บรรจุในหลอดทำจากอะลูมิเนียมคล้ายหลอดยาสีฟัน ภายในหลอดมีการฉาบวัสดุพิเศษ ป้องกันการก่อตัวของแก๊สไฮโดรเจนซึ่งเป็นปฏิกิริยาระหว่างผิวโลหะกับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำแอปเปิล หลอดอะลูมิเนียมที่ใช้ในยุคแรกมักมีน้ำหนักมากกว่าอาหารที่บรรจุอยู่ภายใน ต่อมาจึงมีการพัฒนาเป็นหลอดพลาสติกน้ำหนักเบา จะว่าไปแล้วนักบินอวกาศไม่ค่อยพิสมัยกับอาหารแบบนี้นัก เพราะส่วนมากมีรสชาติไม่น่ารับประทาน และยุ่งยากในการเติมน้ำให้กับอาหารแห้งกึ่งสำเร็จรูป

ในช่วงปลายของโครงการ เริ่มมีการผลิตและทดสอบอาหารที่ทำให้แห้งและอัดเป็นก้อน มีลักษณะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมพอดีคำ ไม่ต้องกัดหรือหั่นขณะรับประทาน อาหารจะนิ่มลงโดยการเคี้ยวในปาก (ไม่ต้องผสมน้ำก่อนรับประทาน) ยิ่งไปกว่านั้น อาหารก้อนยังถูกฉาบด้วยวุ้นเพื่อไม่ให้แตกเป็นชิ้นๆ ป้องกันไม่ให้มีชิ้นส่วนของอาหารหลุดลอยออกไป ซึ่งอาจเข้าไปอุดตันในอุปกรณ์ต่างๆ บนยาน หรือแม้กระทั่งเป็นอันตรายกับนักบินได้หากเผลอสูดผ่านจมูกเข้าไปในปอด ส่วนภาชนะบรรจุเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกห่อหุ้มด้วยระบบสุญญากาศ นอกจากใช้บรรจุอาหารแล้วยังช่วยป้องกันความชื้น รักษากลิ่นและรสชาติ รวมทั้งถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน

โครงการเจมินี
อาหารอวกาศมีการพัฒนารูปแบบไปมากในโครงการเจมินี ทั้งในแง่ความหลากหลายของอาหารและบรรจุภัณฑ์ มีกระบวนการขจัดน้ำออกจากอาหาร ทำให้อาหารอวกาศในยุคนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารสด ทั้งสีและรสชาติ เช่น น้ำองุ่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิล ขนมปังปิ้ง ช็อกโกแลต ซุปไก่ เนื้อตุ๋น ข้าว ไก่งวงและน้ำเกรวี เป็นต้น

การขจัดน้ำออกจากอาหารเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นเองได้สำหรับคนในประเทศเขตร้อน แต่ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นต้องอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า การทำแห้งเยือกแข็ง (freeze drying) เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ในโครงการอวกาศ เริ่มจากการแล่อาหารให้เป็นชิ้นบางๆ หั่นเป็นก้อนเล็กๆ หรือละลายให้เป็นของเหลว เพื่อย่นระยะเวลาในการปรุง จากนั้นอาหารที่ปรุงเสร็จจะผ่านการแช่แข็งอย่างฉับพลัน อาหารที่ได้จะถูกวางบนถาดแล้วใส่ในห้องสุญญากาศที่มีการลดความดันอากาศลง มีการเพิ่มอุณหภูมิด้วยแผ่นความร้อน

ภายใต้ภาวะความดันต่ำและอุณหภูมิสูง ผลึกน้ำแข็งในอาหารที่ผ่านการแช่แข็งมาก่อนหน้านี้จะระเหยเป็นไอน้ำ ไอน้ำที่ได้จะกลับเป็นผลึกน้ำแข็งอีกครั้งบนแผ่นความเย็น เนื่องจากมีเพียงน้ำเท่านั้นที่ออกมาจากอาหาร อาหารแช่แข็งที่ได้จะยังคงมีไขมันและรสชาติเช่นเดิม โดยเนื้อของอาหารจะมีรูพรุนขนาดเล็ก (ที่เดิมเป็นที่อยู่ของน้ำ) สามารถดูดซึมน้ำที่นักบินจะฉีดเข้าไปผสมก่อนรับประทานในอวกาศ

อาหารอวกาศที่ผ่านขั้นตอนการทำแห้งเยือกแข็ง มีประโยชน์ คือ ช่วยลดน้ำหนักบรรทุกของอาหารลงเนื่องจากน้ำถูกขจัดออกไป ทำให้อาหารมีอายุยาวนานขึ้น และสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังมีรสชาติและลักษณะภายนอกละม้ายคล้ายคลึงกับอาหารสด เมื่อการบินในอวกาศใช้เวลานานขึ้น สิ่งที่นาซาต้องคำนึงถึงอีกอย่าง คือ สารอาหารที่นักบินควรจะได้รับ นักบินแต่ละคนจะได้รับอาหารประมาณ 0.58 กิโลกรัมต่อวัน มีการวางแผนเมนูอาหารล่วงหน้า โดยเมนูจะวนมาซ้ำเดิมทุกๆ 4 วัน

โครงการอะพอลโล
โครงการอะพอลโลใช้รูปแบบการบรรจุอาหารอวกาศในภาชนะแบบเดียวกับโครงการเจมินี แต่มีความหลากหลายของชนิดอาหารให้นักบินอวกาศมีโอกาสได้เลือกรับประทานมากขึ้น อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ที่ต้องเติมน้ำก่อนรับประทาน) บรรจุในถุงพลาสติกอัดความดัน ก่อนรับประทานต้องเติมน้ำอุ่นด้วยกระบอกฉีดผ่านช่องที่ก้นถุง เมื่ออาหารได้รับน้ำ ปากถุงจะเปิดออก รับประทานโดยการใช้ช้อนตัก อาหารที่มีลักษณะกึ่งเหลวจะติดอยู่กับช้อน เวลาทานให้ความรู้สึกคล้ายกับรับประทาน

อาหารบนพื้นโลก
บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารอวกาศแบบใหม่ที่นำมาใช้ในโครงการอะพอลโลเป็นถุงอาหารที่ไม่ต้องเติมน้ำอย่างแต่ก่อน เพราะมีน้ำบรรจุอยู่แล้ว แบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกเป็นถุงพลาสติกหุ้มด้วยแผ่นอะลูมิเนียม อย่างที่สองเป็นอาหารกระป๋องคล้ายกับที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน (เทคโนโลยีหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรา มีต้นกำเนิดจากโครงการอวกาศ) ข้อเสียของอาหารกระป๋อง คือ กระป๋องเปล่ามีน้ำหนักมากกว่าอาหารที่บรรจุอยู่ภายในถึง 4 เท่า
รูปแบบการบรรจุอาหารแบบใหม่นี้ทำให้นักบินของโครงการอะพอลโลสามารถเห็นและได้กลิ่นอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนในการรับประทานอาหารในอวกาศได้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ทำให้นักบินอวกาศมีความสุขกับการรับประทานมากกว่าแต่ก่อนที่ต้องดูดกินจากหลอดบรรจุอาหาร

ภารกิจของโครงการอะพอลโลที่ส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการออกแบบอาหารอวกาศ บรรจุภัณฑ์แบบที่ใช้ในโครงการเมอร์คิวรีถูกนำมาใช้ใหม่เพื่อเป็นระบบอาหารสำรอง มีเครื่องดื่มและอาหารหลายชนิดที่นักบินในยุคนั้นสามารถรับประทานในอวกาศได้ เช่น กาแฟ เนื้อหมูอบ คอร์นเฟล็กซ์ ไข่เจียว ขนมปังกรอบ แซนด์วิช ขนมพุดดิ้ง สลัดทูน่า เนยผสมถั่วลิสงบด เนื้อวัวตุ๋นในน้ำมัน สปาเกตตี และไส้กรอก

โครงการสกายแล็บ
สกายแล็บเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐฯ สถานีน้ำหนัก 75 ตัน อยู่ในวงโคจรรอบโลกระหว่างปี 1973-1979 มีนักบินไปเยือน 3 ครั้ง ในช่วงปี 1973-1974 มีความเสียหายเกิดขึ้นกับแผงกันสะเก็ดดาวและแผงเซลล์สุริยะขณะส่งยาน ทำให้นักบินชุดแรกต้องขึ้นไปซ่อมสถานีในเดือนพฤษภาคม 1973 นักบินชุดสุดท้ายกลับสู่โลกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1974 โดยสถานีอวกาศสกายแล็บค่อยๆ ดิ่งลงจนตกสู่บรรยากาศโลกในวันที่ 11 กรกฎาคม 1979
การรับประทานอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บแตกต่างจากการรับประทานอาหารบนยานอวกาศในโครงการอื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสกายแล็บเป็นสถานีอวกาศที่มีตู้เย็น มีเครื่องแช่แข็ง ถาดอุ่นอาหาร และโต๊ะ เวลาพักรับประทานอาหารบนสกายแล็บจึงให้ความรู้สึกคล้ายกับการรับประทานอาหารที่บ้าน เมื่อเทียบกันแล้วความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างการทานอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บกับที่บ้าน คือ สภาพแวดล้อมที่มีความโน้มถ่วงต่ำ
เสบียงอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บออกแบบไว้สำหรับนักบินอวกาศ 3 คน ในภารกิจที่ยาวนานประมาณ 112 วัน เมนูอาหารออกแบบสำหรับนักบินแต่ละคนโดยเฉพาะ โดยมีการคำนวณความต้องการสารอาหารของแต่ละคนซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และกิจกรรมที่ทำบนยาน

อาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บบรรจุในภาชนะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ก่อนรับประทานนักบินต้องนำอาหารไปอุ่นบนถาดอุ่นอาหาร แต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู พริก มันฝรั่ง สเต๊ก หน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งไอศกรีม

โครงการอะพอลโล-โซยุซ
โครงการอะพอลโล-โซยุซเป็นโครงการร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต มีการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันระหว่างยานอวกาศของ 2 ชาติในวงโคจรรอบโลก เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1975 ระหว่างยานอะพอลโล 18 กับยานโซยุซ 9 และเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานอวกาศในโครงการอะพอลโล (อะพอลโลลำสุดท้ายที่ไปลงดวงจันทร์ คือ อะพอลโล 17)

ยานอะพอลโลของสหรัฐฯ มีนักบิน 3 คน ขณะที่ยานโซยุซของโซเวียตมีนักบิน 2 คน ยานทั้งสองขึ้นจากพื้นโลกในวันที่ 15 กรกฎาคม เข้าเชื่อมต่อกันในวันที่ 17 กรกฎาคม โดย ทอม แสตฟฟอร์ด และ อะเลคซี เลโอนอฟ นักบินจากสองชาติ จับมือกันกลางอวกาศเป็นครั้งแรก ยานทั้งสองลำเชื่อมต่อกันนานเกือบ 2 วัน มีการแลกเปลี่ยนธงชาติและของที่ระลึก รับประทานอาหารร่วมกัน และทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันหลายอย่าง ก่อนจะแยกจากกันในวันที่ 19 กรกฎาคม
อาหารอวกาศในโครงการนี้เป็นอาหารแบบเดียวกับที่ใช้ในโครงการอะพอลโลและสกายแล็บ อาหารอวกาศของรัสเซียเป็นอาหารกระป๋องและอาหารที่ใส่ในหลอดอะลูมิเนียม ยานของแต่ละชาติมีเครื่องอุ่นอาหารขนาดเล็ก เมนูอาหารจัดไว้เฉพาะสำหรับนักบินแต่ละคน โดยทั่วไปแต่ละมื้อประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ขนมปัง เนยแข็ง ซุป ผลไม้แห้ง ถั่ว กาแฟ และขนมเค้ก

โครงการกระสวยอวกาศ
กระสวยอวกาศขององค์การนาซาหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าระบบขนส่งอวกาศ (Space Transportation System ---- STS) เป็นยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมโครงการแรกของโลกที่สามารถนำบางส่วนของยานกลับมาใช้งานใหม่ได้ สามารถบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากขึ้นไปในวงโคจรรอบโลก ภารกิจสำคัญที่ผ่านมา เช่น การกู้ดาวเทียมที่หมดอายุกลับมายังโลก การรับ-ส่งนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล รวมทั้งการทดลองต่างๆ ในอวกาศ

โครงการกระสวยอวกาศเริ่มต้นขึ้นในปลายยุค 1960 และมีบทบาทสำคัญในภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมตลอดมา กระสวยลำแรกที่ใช้ทดสอบการบินและการร่อนลงจอดในโครงการนี้มีชื่อว่าคอนสติทิวชัน (Constitution) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระสวยอวกาศเอ็นเตอร์ไพรส์ตามคำเรียกร้องของบรรดาแฟนภาพยนต์ซีรีส์สตาร์เทร็ก (Star Trek)

ต่อมานาซาจึงสร้างกระสวยอวกาศ 5 ลำที่ใช้งานได้จริง ทะยอยออกมาในระหว่างปี 1979-1991 ได้แก่ กระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) กระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ (Challenger) กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) กระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) และกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ในจำนวนนี้มี 2 ลำที่ระเบิดเสียหายขณะเดินทางอยู่เหนือพื้นโลก คือ กระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์และกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ปัจจุบันนี้นาซาระงับการส่งกระสวยอวกาศมานานเกือบ 2 ปีแล้วนับจากอุบัติเหตุการระเบิดของกระสวยอวกาศโคลัมเบียเมื่อต้นปี ค.ศ. 2003 แต่กำลังมีแผนที่จะส่งกระสวย

อวกาศขึ้นไปอีกครั้งในปีหน้า
กระสวยอวกาศสามารถรองรับนักบินได้ถึง 10 คน แต่โดยมากแต่ละครั้งจะมีนักบิน 5-7 คน นักบินบนกระสวยอวกาศมีเมนูอาหารให้เลือกถึง 74 ชนิด เครื่องดื่มอีก 20 ประเภท การเพิ่มขึ้นของเมนูอาหารในโครงการกระสวยอวกาศนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากมีนักบินอวกาศที่เดินทางไปกับกระสวยอวกาศจำนวนมากขึ้น นาซาเองก็มีกำหนดการที่แน่นอนในการส่งกระสวยอวกาศแต่ละลำขึ้นไปปฏิบัติภารกิจล่วงหน้า

นักบินอวกาศแต่ละคนสามารถเลือกหรือออกแบบมื้ออาหารได้เอง ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย อาหารแต่ละมื้อบนกระสวยอวกาศจะมีการตระเตรียมภายในห้องครัว มีท่อน้ำและเตาอบ ท่อน้ำสามารถจ่ายน้ำร้อน น้ำอุ่น และน้ำเย็น สำหรับเติมน้ำให้กับอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ผ่านการอบแห้งมาจากพื้นโลก

เตาอบที่ใช้บนกระสวยอวกาศเป็นเตาอบที่อาศัยกระบวนการพาความร้อน อาหารมื้อหนึ่งสำหรับนักบิน 4 คน จะใช้เวลาในการเตรียมเพียง 5 นาที แต่หากต้องมีการอุ่นอาหารอาจใช้เวลา 20-30 นาที ถาดใส่อาหารจะทำหน้าที่เป็นจานอาหารไปในตัว เวลารับประทานนักบินจะใช้เข็มขัดผูกติดกับที่นั่ง เครื่องมือที่ใช้ก็เหมือนกับการรับประทานอาหารบนโลก คือ มีด ช้อน และส้อม แต่ที่ขาดไม่ได้คือกรรไกร! สำหรับตัดปากถุงบรรจุอาหารนั่นเอง

นอกจากอาหาร สิ่งที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็มีการพัฒนาจากเดิมเพื่อลดน้ำหนักและปริมาตรของสัมภาระที่เป็นเสบียง เช่น มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มขึ้นใหม่ ในปี 1991 นาซาหันไปใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก มีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังออกแบบเครื่องอัดขยะเพื่อลดปริมาตรของขยะลงด้วย


สถานีอวกาศนานาชาติ
สถานีอวกาศนานาชาติกำเนิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของสถานีอวกาศสกายแล็บของสหรัฐฯ และสถานีอวกาศมีร์ของรัสเซีย เป็นโครงการร่วมกันระหว่างแคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐฯ นับจากเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน มีนักบินอวกาศสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีคราวหนึ่งอย่างน้อย 2 คน ส่วนใหญ่เป็นนักบินอเมริกันและรัสเซีย บางคราวก็มีนักบินจากชาติอื่นๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวอีก 2 คน
ปัจจุบันสถานีอวกาศยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ อุบัติเหตุที่เกิดกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียทำให้แทบทุกอย่างหยุดชะงักลง โมดูลส่วนอื่นๆ ที่ต้องนำขึ้นไปเชื่อมต่อล้วนมีน้ำหนักมาก ขณะนี้สถานีอวกาศนานาชาติโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 355-367 กิโลเมตร วนรอบโลกครบหนึ่งรอบในเวลาประมาณ 92 นาที มีน้ำหนักรวมทั้งสถานี 187 ตัน

กระสวยอากาศใช้เซลล์เชื้อเพลิงให้พลังงานไฟฟ้าโดยมีน้ำเป็นผลพลอยได้ ซึ่งนำไปใช้ในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักบินอวกาศ แต่บนสถานีอวกาศนานาชาติ พลังงานไฟฟ้าสร้างขึ้นจากแผงเซลล์สุริยะ จึงไม่มีน้ำเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ น้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากหลายแหล่งแต่ไม่เพียงพอสำหรับในมาใช้ในอาหาร ดังนั้นอาหารที่ใช้บนสถานีอวกาศจึงเป็นอาหารแช่แข็ง หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการคงอุณหภูมิมาแล้ว คือ ผ่านกระบวนการทางความร้อน นำมาบรรจุกระป๋อง และเก็บที่อุณหภูมิห้อง ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำผสมก่อนบริโภค

* บทความจากวารสารทางช้างเผือก ฉบับกุมภาพันธ์ 2548
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
3 ตุลาคม 2548

ที่มา:
http://thaiastro.nectec.or.th/library/spacefood/spacefood.html