ผู้เขียน หัวข้อ: สุริยุปราคา  (อ่าน 5200 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
สุริยุปราคา
« เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2011, 01:09:57 PM »
สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก
โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ
เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้
ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง
โอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น
สุริยุปราคาเต็มดวงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงาม น่าตื่นเต้น และสร้างความประทับใจแก่คนที่ได้ชม ผู้คนจำนวนมากต่างพากันเดินทางไปยังดินแดนอันห่างไกลเพื่อคอยเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้
สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อ พ.ศ. 2542 ที่เห็นได้ในทวีปยุโรป ทำให้สาธารณชนหันมาสนใจสุริยุปราคาเพิ่มขึ้นมาก สังเกตได้จากจำนวนประชาชนที่เดินทางไปเฝ้าสังเกตสุริยุปราคาวงแหวนใน พ.ศ. 2548
และสุริยุปราคาเต็มดวงใน พ.ศ. 2549 สุริยุปราคาครั้งที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552 และสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชนิดของสุริยุปราคา
สุริยุปราคามี 4 ชนิด ได้แก่
สุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse) : ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง
สุริยุปราคาบางส่วน (partial eclipse) : มีเพียงบางส่วนของดวงอาทิตย์เท่านั้นที่ถูกบัง
สุริยุปราคาวงแหวน (annular eclipse) : ดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงแหวน เกิดเมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลจากโลก ดวงจันทร์จึงปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์
สุริยุปราคาผสม (hybrid eclipse) : ความโค้งของโลกทำให้สุริยุปราคาคราวเดียวกันกลายเป็นแบบผสมได้ คือ บางส่วนของแนวคราสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง ที่เหลือเห็นสุริยุปราคาวงแหวน บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่า
สุริยุปราคาจัดเป็นอุปราคาประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ
การที่ขนาดของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์เกือบจะเท่ากันถือเป็นเหตุบังเอิญ ดวงอาทิตย์มีระยะห่างเฉลี่ยจากโลกไกลกว่าดวงจันทร์ประมาณ 390 เท่า และเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ก็ใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์ประมาณ 400 เท่า ตัวเลขทั้งสองนี้ซึ่งไม่ต่างกันมาก ทำให้ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์มีขนาดใกล้เคียงกันเมื่อมองจากโลก คือปรากฏด้วยขนาดเชิงมุมราว 0.5 องศา
วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นวงรีเช่นเดียวกันกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์จึงไม่คงที่[3][4] อัตราส่วนระหว่างขนาดปรากฏของดวงจันทร์ต่อดวงอาทิตย์ขณะเกิดคราสเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าสุริยุปราคาอาจเป็นชนิดใด ถ้าคราสเกิดขึ้นระหว่างที่ดวงจันทร์อยู่บริเวณจุดใกล้โลกที่สุด (perigee) อาจทำให้เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง เพราะดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่มากพอที่จะบดบังผิวสว่างของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโฟโตสเฟียร์ได้ทั้งหมด ตัวเลขอัตราส่วนนี้จึงมากกว่า 1 แต่ในทางกลับกัน หากเกิดคราสขณะที่ดวงจันทร์อยู่บริเวณจุดไกลโลกที่สุด (apogee) คราสครั้งนั้นอาจเป็นสุริยุปราคาวงแหวน เพราะดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ อัตราส่วนนี้จึงมีค่าน้อยกว่า 1 สุริยุปราคาวงแหวนเกิดได้บ่อยกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง เพราะโดยเฉลี่ยแล้วดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากเกินกว่าจะบดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งหมด

การสังเกตสุริยุปราคา
การมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าไม่ว่าจะมองในเวลาใดก็ตามส่งผลเสียต่อดวงตา แม้แต่มองดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา แต่สุริยุปราคาก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจและศึกษาอย่างมาก การใช้อุปกรณ์ช่วยในการมอง เช่นกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ก็ยิ่งทำให้เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นการดูดวงอาทิตย์จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยกรองรังสีบางชนิดที่จะเข้าสู่ดวงตา การใช้แว่นกันแดดในการมองเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่สามารถป้องกันสิ่งที่เป็นอันตราย รวมทั้งรังสีอินฟราเรดที่มองไม่เห็นซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเรตินาได้ การสังเกตจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ทำมาโดยเฉพาะ จึงจะสามารถมองดูดวงอาทิตย์ได้ตรง ๆ

การสังเกตที่ปลอดภัยมากที่สุด คือการฉายแสงจากดวงอาทิตย์ผ่านอุปกรณ์อื่น เช่น กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ แล้วใช้กระดาษสีขาวมารองรับแสงนั้น จากนั้นมองภาพจากกระดาษที่รับแสง แต่การทำเช่นนี้ต้องมั่นใจว่าไม่มีใครมองผ่านอุปกรณ์นั้นโดยตรง ไม่เช่นนั้นจะทำอันตรายต่อดวงตาของคนนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะถ้ามีเด็กอยู่บริเวณนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม สามารถดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าโดยตรงได้เฉพาะในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว สุริยุปราคาเต็มดวงยังสวยงามอีกด้วย ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงจะเห็นบรรยากาศชั้นคอโรนาแผ่ไปรอบดวงอาทิตย์ บางครั้งอาจเห็นโครโมสเฟียร์ (chromosphere) และเปลวสุริยะ (prominence) ที่พุ่งออกมาจากขอบดวงอาทิตย์ ซึ่งปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ควรหยุดดูดวงอาทิตย์ก่อนที่จะสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวงเล็กน้อย

ประโยชน์ของการสังเกตสุริยุปราคา
นักดาราศาสตร์ใช้การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในการสังเกตบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งตามปกติจะถูกแสงที่สว่างจ้าของบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์กลบจนไม่สามารถมองเห็นได้

สุริยุปราคามีระยะเวลา หรือวงรอบของการเกิดที่แน่นอน ทำให้สามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาครั้งต่อไปได้โดยการคำนวณอย่างง่ายๆจากความเร็วในการเคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์ เปรียบเทียบตำแหน่งกับการที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=982.0
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1385552


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 20, 2011, 01:11:47 PM โดย inbudgetadmin »