ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มดาวจระเข้ หรือดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)  (อ่าน 5610 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
กลุ่มดาวจระเข้ หรือดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)
« เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2011, 12:57:15 PM »
กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับคัลลิสโตในเทพนิยายกรีก ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด 7 ดวง ทำให้เกิดดาวเรียงเด่นซึ่งคนไทยเรียกว่า ดาวจระเข้ คนลาว เรียกว่า ดาวหัวช้าง ในสหราชอาณาจักรเรียกว่า คันไถ ในจีนและอเมริกาเหนือ เรียกว่า กระบวยใหญ่
กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวสำคัญ ช่วยชี้หาดาวเหนือได้ โดยไล่จากขาหน้าขวา (βUMa) ไปทางขาหน้าซ้าย (αUMa) เลยออกไปอีกประมาณ 5 ช่วง นอกจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ ยังมีอีกกลุ่มที่ใช้หาดาวเหนือได้คือ กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย หรือดาวค้างคาว

สำหรับคนในซีกโลกเหนือ กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่มองเห็นได้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับดาวเหนือ แต่ในทางกลับกันเนื่องจากเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ในซีกฟ้าเหนือ ผู้ที่อาศัยอยู่ทางซีกโลกใต้มาก ๆ จะเห็นได้ลำบาก เพราะตำแหน่งดาวบนทรงกลมท้องฟ้า จะอยู่ใต้พื้นโลกเกือบตลอดเวลา

--------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มดาวที่มนุษย์รู้จักดีที่สุด และใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือ กลุ่มดาวจระเข้ ดาวกลุ่มนี้มี 7 ดวง มีลักษณะคล้ายกระบวยตักน้ำ 4 ดวงเป็นตัวกระบวย อีก 3 ดวง เป็นด้าม ชาวจีนและชาวยุโรปเขาเห็นเป็นรูปกระบวย จึงเรียกกลุ่มดาวกลุ่มนี้ว่า “กระบวยใหญ่” (Big Dipper) ชาวกรีกซึ่งเป็นดินแดนแห่งเทพนิยายอันเกี่ยวกับ ดวงดาวต่าง ๆ เห็นเป็น “หมีใหญ่” (Ursa Major)  คนไทยเห็นเป็น “จระเข้” ทั้งกรีกและไทย เห็นเหมือนกันอยู่ 1 อย่างคือ เห็นดาว 3 ดวง ทางด้ามกระบวยเป็นหางหมี และหางจระเข้เหมือนกัน

นานมาแล้ว มีนิยายเล่ากันต่อ ๆ มาว่า หมีเป็นสัตว์ที่โง่เขลา ไม่รู้จักวิธี ทำให้อบอุ่น ในฤดูหนาว และมักจะร้องทุกข์เรื่องต่อพระเจ้าอยู่เสนอ ว่ามันรู้สึกหนาวเย็นที่จมูก และอุ้มเท้าอย่างยิ่ง ดังนั้นพระเจ้าจึงแนะนำวิธี ทำให้อบอุ่นในหน้าหนาวแก่มันด้วยการ แนะนำให้จำศีลโดยขุดรูอยู่ในถ้ำ ตั้งแต่นั้นมาพวกหมีก็รู้จักวิธีเตรียมตัว ผจญกับ ความหนาวเย็น โดยจำศีลในหน้าหนาวอยู่ในถ้ามาจนบัดนี้ พระเจ้าได้นำหมีใหญ่และหมีเล็ก ขึ้นไปไว้บนท้องฟ้าใกล้ ๆ กับดาวเหนือ ซึ่งเป็นปากถ้า แล้วพระเจ้าได้บันดาลให้ หมี 2 ตัวนี้ เคลื่อนที่รอบดาวเหนือ คือเราจะเห็นกลุ่มดาวหมีได้ตั้งแต่หัวค่ำ แสดงว่าหมีไม่ได้จำศีล ตอนนั้นจะเป็นฤดูร้อนของซีกโลกฝ่ายเหนือ เมื่อกลุ่มดาวเหนือ อยู่ท้องฟ้าซีกล่าง คือดาวหมีจะเริ่มขึ้นเมื่อใกล้สว่าง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นเวลาที่หมีจำศีล อยู่ในถ้ำ ขณะนั้นจะตรงกับฤดูหนาวของซีกโลกฝ่ายเหนือ

การหากลุ่มดาวจระเข้นั้นง่ายมาก กลุ่มดาวนี้จะอยู่ทางทิศเหนือ เมื่อเริ่มขึ้นจะเริ่มขึ้น ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตกทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แต่การขึ้นและตกนั้นเปลี่ยนไปตามฤดูกาล คือเดือนมกราคมจะขึ้นตั้งแต่เที่ยงคืนเศษ เวลาตี 2 จะเห็นครบ 7 ดวง ก่อนสว่างจะเห็นอยู่ทางขอบฟ้าทิศเหนือ เห็นเป็นรูปกระบวยคว่ำ ในเดือน เมษายนระหว่างโรงเรียนปิดเทอมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่หัวค่ำ พอใกล้สว่างจะตก เดือนพฤษภาคมพอเริ่มมือจะเห็นครบ 7 ดวงเต็ม เป็นรูปกระบวยใหญ่ พอตี 3 ครึ่ง จะเริ่มตก พอปลายเดือนมิถุนายนเริ่มมืด จะเห็นดาวจระเข้หรือกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ อยู่กลางท้องฟ้าทางทิศเหนือ พอเดือนสิงหาคมเริ่มมืดจะเห็นกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ อยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ หันเอาปากกระบวยลง เอาด้านกระบวยชี้ฟ้า พอปลาย เดือนกันยายนเริ่มมืด กลุ่มดาวกระบวยใหญ่ก็เริ่มตกเวลาและเดือน ดังกล่าวข้างต้น ใช้ได้ตลอดกาล คือจะเป็นดังกล่าวทุกปีไม่มีเปลี่ยนแปลง

ดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการหาทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจาก กลุ่มดาวนี้ เราใช้หาดาวเหนือ (Polaris) ได้  ดาว 2 ดวง ตรงปากกระบวยชื่อ Dubhe และ Merek ซึ่งเรียกว่าเครื่องชี้ (Pointer) ดาว 2 ดวงนี้ห่างกัน 5๐ ถ้าลากเส้นตรง จากดาว 2 ดวงนี้ จะชี้ไปที่ ดาวเหนือ นับจากดาว Dubhe ไปราว 5 หน่วย จะถึง ดาวเหนือพอดี ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับดาวเหนือ มีดาวที่สว่าง สุกใสอยู่ดาวเดียว คือ ดาวเหนือ จึงสังเกตได้ง่าย

ขอให้สังเกตดู ดาวเหนือ ซึ่งเป็นปลายด้านของกระบวยเล็ก ในคืน เดือนมืดสนิท จะสังเกตเห็นได้ ขอให้ท่านจงใช้ความพยายามเป็นพิเศษ หาดาวเหนือให้พบ เมื่อพบแล้วท่านจำไว้ว่า ท่านยืนอยู่ใกล้อะไร และยกสายตาขึ้นประมาณกี่องศา ต่อไปจะเป็นคืนไหน ฤดูอะไร มายืนอยู่ที่เก่ายกสายตาขึ้นเท่าเก่า  จะเห็นดาวเหนือเสมอ ถึงแม้เราจะเห็นดาวจระเข้หรือไม่ก็ตาม ถ้ายืนอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บน เส้นรุ้งที่ 14 แต่ถ้าไปยืนดูที่เชียงใหม่ จะเห็นอยู่สูงเกือบ 19 องศา จากขอบฟ้าและถ้าไปยืนดู ที่แถวจังหวัดสงขลา นราธิวาส จะเห็นอยู่สูง จากขอบฟ้าประมาณ 6 องศาเท่านั้น

ดาวเหนือ (Polaris) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับชั้นที่ 2 อยู่ห่างจาก โลกเป็น ระยะทาง 465 ปีแสง (แสงเดินได้เร็ววินาทีละ 186,000 ไมล์ หรือ 300,000 กิโลเมตร) แสดงว่าดาวเหนืออยู่ไกลจากโลกมาก ไกลขนาดแสง เดินยังกินเวลาถึง 465 ปี ดาวเหนือนี้มีความสว่างจริงสว่างกว่าดวงอาทิตย์ ถึง 2,500 เท่า แต่เนื่องจากอยู่ไกล เราจึงเห็นบนท้องฟ้าไม่สว่างนัก

พูดถึงดาวจระเข้ ทำให้นึกถึงบทกลอนดอกสร้อยบทหนึ่งของไทยเรา คือ

“สักวาดาวจระเข้ก็เหหก                     ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว           น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ            ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณากาดุเหว่าก็เร้าร้อง                     ดูแสงทองจับขอบฟ้าขอลาเอย”

สักวาบทนี้มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อใกล้สว่างดาวจระเข้ก็เหหก ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว กลุ่มดาวจระเข้อยู่ทางขอบฟ้าทิศเหนือ เมื่อเริ่มขึ้น จะเห็นทางด้านตัวกระบวย (ด้านหัวจระเข้) โผล่ขึ้นมาทาง ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วค่อยๆ เคลื่อนไปทางขอบฟ้า ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยจะหันเหเอาด้านตัวกระบวยหรือหัวจระเข้ เคลื่อนที่ไป เมื่อกลุ่มดาวกลุ่มนี้ เคลื่อนที่มาตรงขอบฟ้าทิศเหนือ จะเห็นเป็นรูปกระบวยคว่ำลง เมื่อใกล้จะตก จะเห็นกลุ่มดาวกลุ่มนี้หันเอาด้าน ตัวกระบวยหรือหัวจระเข้ปักลงไปทางขอบฟ้าก่อน ด้วยเหตุนี้คนโบราณ (โดยเฉพาะคนไทย) จึงใช้ดาวกลุ่มนี้เป็นเครื่องบอกเวลาได้ โดยสังเกตจากการหันเหของดาวกลุ่มนี้ ถ้าเริ่มขึ้นจะเอาหัวจระเข้ชี้ไปทาง กลางฟ้า พอใกล้จะตกจะเอาหัวปักขอบฟ้า เอาหางชี้ฟ้า

เนื่องจากกลุ่มดาวจระเข้เป็นกลุ่มดาวบอกเวลาได้ คนไทยใช้ดาวกลุ่มนี้ บอกเวลา ได้หลายอย่างเช่น ถ้าเห็นดาวจระเข้อยู่กลางท้องฟ้า เมื่อเริ่มมืด (ราวปลายเดือนมิถุนายน) แสดงว่าชาวนากำลังดำนา ชาวไร่ปลูกพืชไร่ ในหน้าฤดูเข้าพรรษา ดาวจระเข้จะขึ้นตอนเช้ามืด การไปทอดกฐินของไทย สมัยก่อน เคลื่อนองค์กฐินกันตั้งแต่ก่อนสว่าง อาศัยดูเวลาจากดาวจระเข้ ฉะนั้นสมัยนี้ เวลาไปทอดกฐิน เขาจึงต้องเอาธงจระเข้ไปปักไว้หน้าวัด เพื่อเป็น เครื่องระลึกถึง ประโยชน์ของกลุ่มนี้ เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรลองถามผู้ใหญ่ดูก็ได้

กลุ่มดาวจระเข้นี้ แต่ละชาติต่างก็เห็นแตกต่างกันออกไป เช่นชาวบาบิโลเนียน เห็นคล้ายรถเข็นให้เด็กนั่ง ชาวอียิปต์เห็นคล้ายขาหลังข้างซ้ายของวัว ชาวสเปนเห็นคล้ายเขาสัตว์สำหรับเป่า ชาวญี่ปุ่นเห็นคล้ายราชรถ ชาวอินเดียแดงเห็นคล้ายเรือบรรทุกของชาวอาหรับเห็นคล้ายล้อเลื่อน บรรทุกของ ชาวอิหร่านและชาวอังกฤษเห็นเป็นคันไถ ส่วนชาวจีนและ ชาวยุโรปอเมริกาทั่วๆ ไปเห็นคล้าย กระบวย ชาวกรีก ชาวคาลเดียนเห็น เป็น หมีใหญ่ สำหรับคนไทยทั่ว ๆ ไปเห็นเป็นจระเข้ เมื่อแต่ละชาติเห็น แตกต่างกันเช่นนี้ แต่ละชาติก็มีนิยายเกี่ยวกับ กลุ่มดาวนี้แตกต่างกันออกไป นิยายดาวที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นนิยายที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นเทพนิยายที่ แพร่หลายตรงกันเกือบทั่วโลก ชาวคาลเดียน ชาวกรีก และพวกอินเดียนแดง เผ่าดั้งเดิมในสหรัฐอเมริกา เห็นกลุ่มดาวจระเข้เป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มดาวในบริเวณกลุ่มจระเข้ และบริเวณใกล้ ๆ ดาวเหนือ ไม่มีเส้นที่เชื่อมกลุ่มดาวแล้วเห็นเป็นหมีใหญ่หมีเล็กได้เลย แล้วหมีสองตัวนี้มาจากไหนขอตอบว่ามาจากนิยายปรัมปราเป็นเรื่องเก่าแก่ เล่ากันต่อ ๆ มาตั้งแต่มีเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งไม่มีตัวตนจริงแต่อย่างใด ตามนิยายกล่าวว่า

เทพบดีจูปีเตอร์ (พฤหัสบดี) เกิดหลงรักพระนางคาลลิสโต (Callisto) บุตรีของพระเจ้าไลแคนอน (Lycanon) กษัตริย์แห่งอาร์เดีย จอมเทพจูปีเตอร์ ได้แปลงร่างพระนางคาลลิสโตเป็นหมี เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจาก ความริษยาของพระนางจูโน แต่พระนางคาลลิสโตก็เกือบถูกบุตรชาติของ พระนางเอง ชื่ออาร์แคล (Arcas) ฆ่าตาย เพราะไม่รู้ว่าหมีนั้นคือแม่ของตน และเพื่อขจัดความยุ่งยากอื่น ๆ ซึ่งอาจมีขึ้น จอมเทพจูปีเตอร์จึงแปลงร่าง อาร์แคลผู้เป็นบุตร เป็นหมีเล็ก เอาขึ้นไปไว้บนสวรรค์ ใกล้ ๆ หมีแม่ของของเอง



ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88
http://phuketindex.com/travel/photo-stories/other/s-star/ursamajor.htm



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2011, 02:43:08 PM โดย inbudgetadmin »