ผู้เขียน หัวข้อ: กระจุกดาวลูกไก่  (อ่าน 5864 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
กระจุกดาวลูกไก่
« เมื่อ: กรกฎาคม 22, 2011, 01:24:05 PM »
กระจุกดาวลูกไก่ หรือ กระจุกดาวไพลยาดีส (อังกฤษ: Pleiades) หรือวัตถุเมสสิเยร์ M45 หรือ ดาวพี่น้องทั้งเจ็ด เป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาววัว ประกอบด้วยดาวฤกษ์ระดับ B ที่มีประวัติการสังเกตมาตั้งแต่สมัยกลาง นับเป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และอาจเป็นกระจุกดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า

กระจุกดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่มีอายุราว 100 ล้านปี แต่เดิมเคยเชื่อว่าเศษฝุ่นที่ทำให้เกิดการสะท้อนแสงจาง ๆ เรืองรองรอบดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดน่าจะเป็นเศษที่หลงเหลือจากการก่อตัวของกระจุกดาว (จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เนบิวลามายา ตามชื่อดาวมายา) แต่ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเพียงฝุ่นเมฆในสสารระหว่างดาวที่ดาวฤกษ์กำลังเคลื่อนผ่านเท่านั้น นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ากระจุกดาวนี้จะมีอายุต่อไปอีกอย่างน้อย 250 ล้านปี หลังจากนั้นก็จะกระจัดกระจายออกไปเนื่องจากปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงที่เกิดจากดาราจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ประวัติการสังเกตการณ์
กระจุกดาวลูกไก่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือและในฤดูร้อนของซีกโลกใต้ โดยเป็นที่รู้จักอย่างดีในตำนานปรัมปราแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก เช่นชาวมาวรี ชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย ชาวจีน ชาวมายา (เรียกกระจุกดาวนี้ว่า Tzab-ek) ชาวแอซเท็กและชาวซิอุคซ์ในทวีปอเมริกาเหนือ นักดาราศาสตร์ชาวกรีกจำนวนหนึ่งจัดว่ากระจุกดาวนี้เป็นกลุ่มดาวเอกเทศเลยทีเดียว มีการอ้างถึงกลุ่มดาวนี้โดยเฮสิออด และปรากฏในมหากาพย์อีเลียดและโอดิสซีย์ของโฮเมอร์ด้วย ในพระคัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึงกระจุกดาวนี้ 3 ครั้ง (ใน โยบ 9:9, 38:31 และอามอส 5: 8) ในตำนานเทพปกรณัมฮินดู นางกฤติกา (เทียบได้กับนางไพลยาดีส) มีความสำคัญในฐานะเป็นมารดาทั้งหกแห่งเทพสงคราม สกันทะ ผู้มีหกพักตร์สำหรับพวกนาง ส่วนเหล่าบัณฑิตชาวอิสลามเรียกกระจุกดาวนี้ว่า อัท-ธุไรยา (At-thuraiya) และว่าเป็นดวงดาวใน Najm ซึ่งมีกล่าวถึงอยู่ในพระคัมภีร์กุรอาน
เป็นที่ทราบมานานแล้วว่า กลุ่มของดาวที่อยู่ใกล้เคียงกันจะต้องมีความสัมพันธ์ทางกายภาพต่อกัน มิใช่เพียงบังเอิญเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน หลวงพ่อจอห์น มิเชลล์ ได้ทำการคำนวณเมื่อ ค.ศ. 1767 ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ดาวสว่างหลายดวงจะบังเอิญมาเรียงตัวในแนวเดียวกับที่เรามองเห็นนั้นมีเพียง 1 ใน 500,000 หลวงพ่อยังได้ทำนายว่ากระจุกดาวลูกไก่และกระจุกดาวอื่นๆ จะต้องมีความเกี่ยวพันกันในทางกายภาพ[4] เมื่อเริ่มมีการศึกษาการเคลื่อนที่เฉพาะของดาวฤกษ์ จึงได้ตรวจพบว่าดาวในกระจุกดาวล้วนเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันและด้วยความเร็วพอๆ กัน เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่าดาวเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกัน
ชาลส์ เมสสิเยร์ ตรวจวัดตำแหน่งของกระจุกดาวลูกไก่และบันทึกเอาไว้ในรายการวัตถุท้องฟ้าของเมสสิเยร์ลำดับที่ M45 ซึ่งเป็นบันทึกรายการวัตถุท้องฟ้าที่ดูคล้ายดาวหาง ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1771 นอกเหนือจากเนบิวลานายพรานและกระจุกดาวรวงผึ้งแล้ว เมสสิเยร์ได้บันทึกกระจุกดาวลูกไก่ไว้เป็นหมายเหตุวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจมาก เพราะวัตถุท้องฟ้าของเมสสิเยร์ส่วนใหญ่จะค่อนข้างจางและมีแนวโน้มที่จะสับสนกับดาวหางได้ง่าย แม้กระจุกดาวลูกไก่จะไม่มีความใกล้เคียงกับดาวหางเลย แต่เมสสิเยร์ก็ทำบันทึกรายการวัตถุท้องฟ้าที่สว่างโดดเด่นเข้าไปด้วยเพื่อให้มีจำนวนรายการของตนมากกว่าของคู่แข่ง คือนิโคลาส์ หลุยส์ เดอ ลาซายล์[5]

เรื่องเล่าในตำนานและวัฒนธรรมพื้นบ้าน
การที่กระจุกดาวลูกไก่สามารถมองเห็นในท้องฟ้ายามค่ำคืนได้อย่างเด่นชัด จึงเป็นที่รู้จักในแทบทุกวัฒนธรรมทั่วโลกนับแต่อดีตกาล ชาวไทยเราเรียกว่า ดาวลูกไก่ หรือ ดาวกฤติกา ชาวญี่ปุ่นเรียก ซุบารุ ชาวจีนเรียก เหม่าซิ่ว (昴宿; หรือกลุ่มดาวคนผมดก) ส่วนชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะบอร์เนียวเรียกว่า บิตังสโกระ ในพระคัมภีร์ไบเบิลยังมีการเอ่ยถึงดาวกลุ่มนี้โดยเรียกชื่อว่า คิมา (Khima) ในวัฒนธรรมอาหรับซึ่งเป็นนักดูดาวมาแต่โบราณ เรียกชื่อดาวกลุ่มนี้ว่า อัล-ทูเรย์ยา (الثريا; al-Thurayya)
แต่ชื่อของกระจุกดาวในทางดาราศาสตร์จะเรียกชื่อในภาษาอังกฤษ ซึ่งตั้งชื่อกลุ่มดาวนี้ตามตำนานกรีก กล่าวคือ ดาวเหล่านี้เป็นตัวแทนของหญิงสาวเจ็ดพี่น้องแห่งไพลยาดีส ขณะที่ตำนานชาวไวกิงบอกว่าดาวเหล่านั้นคือแม่ไก่ทั้งเจ็ดตัวของเฟรย์ยา ชื่อของกระจุกดาวในภาษาโบราณของทางยุโรปหลายๆ แห่งจะมีความหมายว่า แม่ไก่กับลูกไก่ ซึ่งคล้ายคลึงกับตำนานของไทย
นิทานดาวลูกไก่ในตำนานไทยเล่าว่า มีตายายคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านมา คิดจะหาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากอยู่ในป่าไม่มีอาหารดีๆ จึงหารือกันจะฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้เพื่อไปทำอาหารถวาย แม่ไก่ได้ยินก็สั่งเสียลูกไก่ทั้งหกตัวให้รักษาตัวให้ดี ตัวเองต้องแทนคุณตายายที่เลี้ยงดูมา เมื่อถึงเวลาตายายฆ่าแม่ไก่ ลูกไก่ก็กระโดดเข้าเตาไฟตายตามแม่ไปด้วย เทพยดาเห็นแก่ความกตัญญู จึงให้แม่ไก่และลูกไก่ทั้งหมดขึ้นไปเป็นดาวอยู่บนฟ้าเพื่อเตือนใจคน[13]
ในยุคสำริดของยุโรป ชาวยุโรปบางส่วนเช่นชาวเคลต์หรือวัฒนธรรมอื่นก่อนหน้านั้น เชื่อว่ากระจุกดาวนี้เกี่ยวข้องกับความอาลัยและงานศพ ในอดีตจะมีงานเทศกาลช่วงวันระหว่างวันศารทวิษุวัตจนถึงวันเหมายัน (ดู วันฮัลโลวีน หรือวันแห่งจิตวิญญาณ) เป็นเทศกาลเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ กระจุกดาวนี้จะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าด้านตะวันออกหลังจากตะวันลับขอบฟ้า เหตุนี้กระจุกดาวลูกไก่จึงมักให้ความรู้สึกถึงน้ำตาและความเศร้าโศก
การปรากฏของดวงดาวบนฟ้ามักใช้เป็นจุดสำคัญเพื่อกำหนดระยะเวลาตามปฏิทินของมนุษย์ในสมัยก่อน[14] การปรากฏบนฟ้าของกระจุกดาวลูกไก่ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ถือเป็นการขึ้นปีใหม่สำหรับชาวมาวรีในนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกกระจุกดาวนี้ว่า มาตาริกิ (แปลว่าดวงตาดวงเล็ก ๆ[15]) มีวันหยุดลักษณะคล้ายกันนี้สำหรับชาวฮาวายด้วย เรียกว่าวัน Makaliʻi ชาวแอสแตคโบราณในเม็กซิโกและอเมริกากลางมีปฏิทินของพวกเขาที่อ้างอิงตามกระจุกดาวลูกไก่ โดยเริ่มนับปีใหม่เมื่อพวกนักบวชมองเห็นดาวเรียงเด่นปรากฏขึ้นบนฟากฟ้าตะวันออก ก่อนที่แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์จะลับหายไป ชาวแอสแตคเรียกกระจุกดาวนี้ว่า Tianquiztli (แปลว่า "ตลาด")

ที่มา:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88