ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 1  (อ่าน 7381 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 1
« เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 01:03:37 PM »
1. อัศวินี หรือ อัสสวรณี
อัศวินี หรือ อัสสวรณีอยู่ในราศีเมษ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวม้าตก หรือ ม้าหางหอน ซึ่งดาวในภาษาไทยกลาง ว่า ดาวม้า ดาวคอม้า ดาวหางหนู ประกอบด้วยดาวอยู่เรียงรายกัน 5 ดวง ในแผนที่ตารางดาวล้านนา ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองขอม

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอัศวิณี คือ ดาว “ Beta – Arieties “ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ Sheratar “ แปลว่า “ ฤกษ์ ( Sign) “ ดาวดวงนี้มีความสว่างแท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 17 เท่า มีสีขาว อยู่ห่างจากโลกประมาณ 52 ปีแสง หรือ 492 ล้านล้านกิโลเมตร

เมื่อตรวจสอบลักษณะการวางตัวของกลุ่มดาวอัศวณี ทั้ง 5 ดวง ในแผนที่ตารางดาวล้านนาเทียบกับแผนที่ดาวสากล ดาวฤกษ์ทั้ง 5 ดวงน่าจะเป็นดาว
ดาว Beta-Arieties
ดาว Alpha-Arieties
ดาว Gamma-Arieties
ดาว Alpha-Triangulum
ดาว Eta-Pisces

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2. ภรณี
ภรณีอยู่ในราศีเมษ มีชื่อล้านนาว่า ดาวเขียง หรือ เขียงกอม ชื่อดาวในภาษาไทยกลางว่า ดาวแม่ไก่ หรือ ดาวก้อนเส้า ประกอบด้วยดาว 3 ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนก้อนเส้า หรือ เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ประจำเมืองพุก่ำ หรือ พุกาม

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวภรณี คือ ดาว“ 35-Arietis “ ในกลุ่มดาวราศีเมษ ดาวดวงนี้มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ ประมาณ 1,200 เท่า มีสีน้ำเงินแกมขาว อยู่ห่างจากโลกประมาณ 430 ปีแสง หรือ 4,100 ล้านล้านกิโลเมตร

เมื่อตรวจสอบลักษณะการวางตัวของกลุ่มดาวภรณีทั้ง 3 ดวง ในแผนที่ตารางดาวล้านนาเทียบกับแผนที่ดาวสากล ดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวง น่าจะเป็นดาว
ดาว35-Arieties
ดาว39-Arieties
ดาว41-Arieties

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

3. กฤตติกา หรือ กิตติกา
กฤตติกา หรือ กิตติกาอยู่ในราศีพฤษภ แต่ในตารางดาวล้านนาว่าอยู่ในราศีเมษ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาววี หรือ ดาววีไก่น้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวลูกไก่ ประกอบด้วยดาว 7 ดวง เรียงเป็นรูปพัด ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองอาฬวี ( เชียงรุ่ง หรือ สิบสองปันนา )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวกฤตติกา คือ ดาว “ Eta-Tuari “ ในกลุ่มดาวราศีพฤษภ มีชื่อเฉพาะว่า “ Alcyone “ เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ กระจุกดาวลูกไก่มีดาวฤกษ์เป็นสมาชิกอยู่ร่วมกันจำนวนหลายร้อยดวงภายใต้แรงโน้มถ่วงซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียง 7 ดวง เท่านั้น ซึ่งลักษณะการวางตัวเหมือนที่เขียนไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา กล่าวคือ เป็นรูปพัด ดาวฤกษ์ทั้ง 7 ดวง ได้แก่
ดาว Eta – Tauri
ดาว 17 – Tauri
ดาว 20 – Tauri
ดาว 23 – Tauri
ดาว 19 – Tauri
ดาว 27 – Tauri
ดาว 28 – Tauri

กระจุกดาวลูกไก่เป็นกระจุกดาวที่รู้จักกันมาช้านานแล้ว มีหลักฐานบันทึกการสังเกตกระจุกดาวลูกไก่ ตั้งแต่ 2357 ปีก่อนคริสตศักราช ในบทกวี ตำนาน และบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มีการกล่าวถึงกระจุกดาวลูกไก่ไว้ด้วย ปิรามิดบางแห่งในอียิปต์และวิหารบางแห่งในกรีก สร้างในแนว ขึ้น-ตก ของกระจุกดาวลูกไก่พอดี กระจุกดาวลูกไก่จะมีตำแหน่งอยู่ตรงกับพระอาทิตย์พอดีในราวกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้กำลังผลิดอกชูช่ออย่างสวยงาม จึงเรียกกระจุกดาวลูกไก่ว่า “ ดาวแห่งฤดูกาลของไม้ดอก “

ดาว Eta – Tauri ซึ่งเป็นดาวอ้างอิงในแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวกฤตติกา เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏมากที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ มีสีน้ำเงินแกมขาว มีขนาดแท้จริงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10 เท่า และมีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1,000 เท่า ดาวฤกษ์ทุกดวงที่เป็นสมาชิกในกระจุกดาวลูกไก่ยังมีอายุค่อนข้างน้อย กล่าวคือ มีอายุประมาณ 20 ล้านปีเท่านั้น ยังมีสภาพที่อยู่ในสภาวะที่เพิ่งจะเกิดใหม่และมักพบว่ามีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

4. โรหิณี หรือ พราหมณี
โรหิณี หรือ พราหมณี อยู่ในราศีพฤษภ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวค่าง หรือดาวกระจม (มงกุฎ) มีชื่อในภาษาไทยกลางว่า ดาวจมูก หรือ ดาวกระจม ประกอบด้วยดาวจำนวน 7 ดวง เรียงกันเป็นรูปมงกุฏ ในแผนที่ตารางดาวล้านนามี 5 ดวง ถือเป็นดาวประจำเมืองมลารัฏฐะ ( เชียงตุง )
ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวโรหิณี คือ ดาว “ Alpha-Tauri “ ในกลุ่มดาวราศีพฤษภ มีชื่อเฉพาะว่า “ อัลดีบาแรน ( Aldebaran ) “ มาจากภาษาอาหรับว่า “ ผู้ตาม ( Follower ) “ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มดาวโรหิณีจะขึ้นตามหลังกระจุกดาวลูกไก่เสมอ ชาวเปอร์เซียโบราณ กำหนดให้ดาวอัลดีบาแรนเป็นดาวดวงหนึ่งในจำนวนสี่ดวงของ “ ดาวที่ยิ่งใหญ่( Royal Stars ) “ โดยดาวอีก 3 ดวง ที่เหลือ คือ ดาวแอนทารีส ( Antares ) ดาวเรกิวลัส (Regulus ) และดาวโฟมาลฮอท์( Fomalhaut ) ดาวอัลดีบาแรน มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมความเชื่อที่ว่า เป็นเทพเจ้าแห่งฝนและเป็นผู้นำความชุ่มชื้นสู่พื้นดิน คำว่า “ โรหิณี ( Rohini ) “ เป็นคำที่มาจากภาษาฮินดู แปลว่า “ สิ่งที่มีสีแดง “ ซึ่งตรงกับลักษณะปรากฏของดาวอัลดีบาแรนซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีแดงที่มีความสว่างมาก ในการกำหนดตามกลุ่มดาวในแผนที่ดาวสากล ดาวดวงนี้เป็นส่วนที่เรียกว่า “ ตาวัว “ และกลุ่มดาวโรหิณีนั้น น่าจะเป็นส่วนที่เรียกว่า “ หน้าวัว “ ซึ่งมีลักษณะการวางตัวของดาวฤกษ์ 5 ดวง ได้แก่
ดาวAlpha-Tauri หรือดาวอัลดีบาแรน
ดาวEpsilon-Tauri
ดาวDelta –Tauri
ดาวGamma –Tauri
ดาวNu –Tauri

การวางตัวของดาวทั้ง 5 ดวง ดังกล่าวเป็นรูป “ ตัววี (V) “ สอดคล้องกับที่วาดไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา
ทางดาราศาสตร์จัดดาวอัลดีบาแรน ว่าเป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวยักษ์แดง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ ประมาณ 40 เท่า สว่างกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 125 เท่า และห่างจากโลกประมาณ 68 ปีแสง หรือ 644 ล้านล้านกิโลเมตร บนท้องฟ้าดาวอัลดีบาแรนจัดเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏเป็นลำดับที่ 13 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

5. มฤคศิระ หรือ มิคสิระ
มฤคศิระ หรือ มิคสิระ อยู่ระหว่างราศีพฤษภ และราศีเมถุน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวหัวเนื้อ ซึ่งตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวหัวเนื้อ ดาวหัวเต่า ดาวเนื้อ หรือ ดาวโค ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 3 ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ถือเป็นดาวประจำเมืองหงสาวดี

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวมฤคศิระ คือ ดาว “ Lambda-Orion “ ในกลุ่มดาว “ นายพราน “ กลุ่มดาวนายพรานนี้คนไทยเรียก “ กลุ่มดาวเต่า “ ซึ่งดาว “ Lambda – Orions “ นี้ จะเป็นส่วนที่เรียกว่า “ หัวเต่า “ ถ้าสังเกตดาวดวงนี้อย่างละเอียดแล้ว จะเห็นดาวฤกษ์ดวงเล็ก ๆ อีก 2 ดวง คือ “ Phi–1 “ และ “ Phi-2 “ วางตัวประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมตรงกับที่เขียนไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Lambda-Orions “ เป็นดาวสีน้ำเงินมีความสว่างปรากฏไม่มากนัก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ความสว่างที่แท้จริงของดาวดวงนี้มากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 9,000 เท่า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,800 ปีแสง หรือ 17,000 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

6. อารทะ หรือ อารทรา
อารทะ หรือ อารทรา อยู่ในราศีเมถุน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวด้ง ( กระด้ง ) หรือ ดาวหมากแขง ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวฉัตร หรือ ดาวใบสำเภา ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 4 ดวง ( บางตำราถือเอาดาวสุกใสเพียงดวงเดียว เรียก ดาวตาสำเภา ) ถือเป็นดาวประจำเมืองกลิงครัฏฐะ
ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอารทะ คือ ดาว “ Alpha-Orions “ ในกลุ่มดาวนายพราน ดาวดวงนี้เป็นดาวที่มีความสว่างสุกใสที่สุดในกลุ่ม เป็น ส่วน “ ไหล่ “ ของนายพราน ของไทยดาวดาวงนี้จะเป็น ส่วน “ ขาหน้า “ ของเต่า

ดาวทั้ง 4 ดวงในกลุ่มดาวอารทะที่บันทึกในแผนที่ตารางดาวล้านนาคลาดเคลื่อนจากแผนที่ดาวสากล ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ดาวฤกษ์อีก 3 ดวงเป็นดาวอะไรในแผนที่ดาวสากล

ดาว “ Alpha-Orions “ มีชื่อเฉพาะว่า บีเทลจูส ( Betelgeuse หรือ Betelgeux ) มีความหมายว่า “ รักแร้ของยักษ์ “ บางครั้งเรียกว่า “ ดาวแห่งการต่อสู้ “ เนื่องจากดาวดวงนี้มีสีแดงและสว่างมาก ในเทพนิยายและบทกวีหลายเรื่องกล่าวถึงดาวดวงนี้ไว้ด้วย

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Alpha-Orions “ เป็นดาวฤกษ์ที่เรียกว่า ดาว” ยักษ์แดง “ ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสีส้ม สังเกตได้ง่าย ปรากฏให้เห็นตลอดคืนบนท้องฟ้าในช่วงฤดูหนาว ดาวดวงนี้มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 7,600-14,000 เท่า มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 550-920 เท่า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 520 ปีแสง หรือ 4,900 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

7. ปุนัพสุ หรือ ปุนวรสุ
ปุนัพสุ หรือ ปุนวรสุ อยู่ระหว่างราศีเมถุน กับราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวสะเพลา(สำเภา) ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวเรือชัย หรือ ดาวสำเภา ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปโค้งท้องเรือ ( บางตำราว่า 3 ดวง ) ถือเป็นดาวประจำเมืองทะโค่ง ( เมืองร่างกุ้ง )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุนพสุ คือ ดาว Beta-Gemini ในกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) คนไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า ดาว”โลงศพ” ดาวดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับแรกของกลุ่มดาวนี้ และเป็นอันดับที่ 17 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า มีสีเหลือง มีชื่อเฉพาะว่า “ พอลลักซ์ ( Pollux ) “ มาจากภาษากรีกว่า “ Polluces “ หรือ “ Polledeuces “ มีความหมายว่า “ นักมวย “ หรือ “ นักต่อสู้ “
กลุ่มดาวจำนวน 6 ดวง ที่เรียงกันเป็นรูปโค้งท้องเรือที่บันทึกในตารางดาวนั้น เมื่อเทียบกับแผนที่ดาวสากลแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นดาวสว่างทั้ง 6 ดวง ในกลุ่มดาวคนคู่ ดังนี้ คือ
ดาวAlpha-Gemini
ดาวBeta-Gemini
ดาวGamma-Gemini
ดาวMu-Gemini
ดาวEpsilon-Gemini
ดาวDelta-Gemini

เนื่องจากมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า และมีลักษณะโค้ง แม้จะโค้งมากกว่าที่บันทึกไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนาก็ตาม

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Beta-Gemini “ เป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 11 เท่า มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 35 เท่า ห่างจากโลก 35 ปีแสง หรือ 331 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

8. ปุษยะ หรือ ปุสสยะ
ปุษยะ หรือ ปุสสยะ อยู่ในราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวเรือนห่าง หรือ ดาวพิดาน ตรงกับชื่อดาวในภาษาไทยกลางว่า ดาวปุยฝ้าย ดาวสมอสำเภา ดาวปู ดาวดอกบัว หรือ ดาวพวงดอกไม้ มีดาวเรียงกันอยู่ 6 ดวง เป็นรูปสมอ หรือ เรียงกันห้าดวงเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ตามแผนที่ตารางดาวล้านนา มี 4 ดวง เรียงกันอยู่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองดอกบัว ( ยังไม่พบว่าอยู่ที่ใด )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงในแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุษยะ คือ ดาว Delta-Cancri ในกลุ่มดาวราศีกรกฏ ( Cancer ) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีแดง มีขนาดใหญ่และมีตำแหน่งปรากฏอยู่บนเส้นสุริยะวิถีพอดี

เมื่อเปรียบเทียบดาวทั้ง 4 ดวง ที่เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสตามที่บันทึกไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา เทียบกับแผนที่ดาวสากลแล้ว ดาวทั้ง 4 ดวงน่าจะเป็น ดาว
ดาวDelta-Cancri
ดาวGamma-Cancri
ดาวEta-Cancri
ดาวTheta-Cancri

โดยมีกระจุกดาวรวงผึ้ง ( Beehive Cluster หรือ Praesepe ) อยู่ตรงกลาง แต่ถ้าพิจารณาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสใหญ่ก็น่าจะเป็น ดาว Alpha-Cancri ,Beta-Cancri ,Delta-Cancri และ Zeta-Cancri

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

9. อสิเลสะ หรือ อัสสเลสะ
อสิเลสะ หรือ อัสสเลสะ ในตำราดูดาวว่าอยู่ในราศีสิงห์ แต่ในตารางแผนที่ดาวล้านนาเขียนอยู่ในราศีกรกฏ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวม้า หรือ ดาวคอกม้า ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวเรือน ดาวพ้อม หรือ ดาวแขนคู้ ประกอบด้วยกลุ่มดาวเรียงกัน 5 ดวง แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนา มีจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปโค้งคว่ำ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองวิเทหะ ( เมืองฮ่อ-ยูนนาน )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอสิเลสะ คือ ดาว “ Epsilon-Hydrae “ ในกลุ่มดาวงูไฮดรา ( Hydra ) มีตำแหน่งอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวราศีกรกฏมาก ดาวดวงนี้มีสีเหลืองเหมือนดวงอาทิตย์ และเป็นดาวสว่างอยู่บริเวณ “ หัว “ ของงูไฮดรา บริเวณนี้จะมีดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วยอีก 5 ดวง คือ
ดาวDelta-Hydrae
ดาวSigma-Hydrae
ดาวEta-Hydrae
ดาวRho-Hydrae
ดาวZeta-Hydrae

ซี่งประกอบเป็นหัวงูไฮดรา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นดาวฤกษ์ทั้ง 6 ดวงของกลุ่มดาวอสิเลสะที่ระบุไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา เนื่องจากบริเวณนี้มีดาวฤกษ์ 6 ดวงดังกล่าวอยู่ใกล้กันสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าและมีลักษณะโค้งคว่ำเหมือนกัน

ในทางดาราศาสตร์ ดาว “ Epsilon-Hydrae “ เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 70 เท่า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 140 ปีแสง หรือ 1325 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

10. มาฆะ หรือ มฆา
มาฆะ หรือ มฆา อยู่ในราศีสิงห์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวงู หรือ ดาวสาวน้อย ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวลิง ดาวงูตัวผู้ หรือ ดาวงูเลื้อย ประกอบด้วยดาวเรียงสับกันในลักษณะฟันเลื่อย 5 ดวง ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองพาราณสี

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวมาฆะ คือ ดาว “ Alpha-Leonics “ ในกลุ่มดาวราศีสิงห์ (Leo) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวนี้ และมีความสว่างปรากฏมากเป็นลำดับที่ 21 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า ดาว “ Alpha-Leonis “ มีชื่อเฉพาะว่า “ เรกิวลัส ( Regulus ) มาจากภาษากรีก แปลว่า “ กษัตริย์องค์เล็ก “ ทางละตินเรียกดาวดวงนี้ว่า “ คอร์ลีโอนิส ( Cor Leonis ) “ แปลว่า “ หัวใจสิงห์ “ คนไทยเรียกดาวดวงนี้ว่า “ ดาวหัวใจสิงห์ “ เช่นกัน ทางฮินดูเรียก “ มาฆะ ( Magha ) “ ซึ่งมีความหมายว่า “ ผู้ทรงพลัง “ หรือ “ ผู้เป็นใหญ่ “ ทางเปอร์เซียเรียก “ ไมยัน ( Miyan ) “ ซึ่งหมายความว่า “ เป็นศูนย์กลาง “ หรือ “ ดาวฤกษ์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง “ และจัดดาวดวงนี้เป็นหนึ่งในสี่ดวงของ “ ดาวหลวง ( Royal Stars ) “ บนท้องฟ้า ชาวอียิปต์เรียกกลุ่มดาวราศีสิงห์ว่าเป็น “ บ้านแห่งดวงอาทิตย์ “ เนื่องจากช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีสิงห์เป็นเวลาพอดีกับช่วงน้ำมากในแม่น้ำไนล์

ตามลักษณะการวางตัวของดาวทั้ง 5 ดวงที่เรียงสับกันของกลุ่มดาวมาฆะในแผนที่ตารางดาวล้านนาแล้ว ดาวฤกษ์ทั้ง 5 ดวง ดังกล่าวในแผนที่ดาวสากลน่าจะเป็นดาวทั้ง 5 ดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบริเวณ “ หัวสิงห์ “ คือ
ดาว Alpha-Leonis
ดาวEta-Leonis
ดาวGamma-Leonis
ดาวZeta-Leonis
ดาวEpsilon-Leonis

ทางดาราศาสตร์ ดาว “Alpha-Leonis “ เป็นดาวสีขาว มีอุณหภูมิสูงมาก มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 160 เท่า มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 5 เท่า มีระยะห่างจากโลกประมาณ 85 ปีแสง หรือ 804 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ที่มา:
http://www.astroschool.in.th/public/story/lannamenu6_ans_inc.php
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 25, 2011, 08:48:54 AM โดย inbudgetadmin »