ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 2  (อ่าน 7317 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 2
« เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 01:22:11 PM »
11. ปุพพผลคุณ หรือ ปุพพผลคุนี
ปุพพผลคุณ หรือ ปุพพผลคุนี อยู่ในราศีสิงห์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวพิดาน หรือ ดาวพิดานน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวเพดานหน้า ดาวงูตัวเมีย หรือ ดาวแรดตัวผู้ ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 2 ดวง ( ดาวเพดานหน้า ) หรือ จำนวน 5 ดวง ( งูตัวเมีย ) แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุว่า ดาวพิดานน้อย นี้มีจำนวน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองมิดิลานคร

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุพพผลคุณ คือ ดาว “ Delta-Leonis” ในกลุ่มดาวราศีสิงห์ มีชื่อเฉพาะว่า “ Zozma “ มาจากภาษากรีกมีความหมายว่า “ เข็มขัด ” หรือ “ สายวัด “ ทางอาหรับเรียกว่า “ Al Tha al Asad “ มีความหมายว่า “ หลังสิงห์ “ บางครั้งเรียกว่า “ Al Zubrah “ ซึ่งมีความหมายว่า “ อานม้า “ ทางจีนเรียก “ Shang Siang “ แปลว่า “ เสนาบดีแห่งแคว้น “ ชาวบาบิโลเนีย เรียก “ Delta-Leonis “ ร่วมกับ ดาว “ Theta-leonis “ ว่า “ Kakkab Kua “ หมายถึง “ ดาวแห่งคำทำนายของเทพเจ้า “

เมื่อตรวจสอบดาวจำนวน 4 ดวง ที่เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจากแผนที่ตารางดาวล้านนาเทียบกับแผนที่ดาวสากล ดาวทั้ง 4 ดวงนี้น่าจะเป็น
ดาว Delta-Leonis
ดาว Theta-Leonis
ดาว Beta-Leonis
ดาว 93-Leonis

ซึ่งเป็นส่วนที่เป็น “ หลังสิงห์ “
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Delta-Leonis “ เป็นดาวที่มีสีขาว มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มดาวราศีสิงห์ แต่มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 50 เท่า มีระยะห่างจากโลกประมาณ 80 ปีแสง หรือ 757 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

12. อุตตรผลคุณ หรือ อุตรผลคุนี
อุตตรผลคุณ หรือ อุตรผลคุนี อยู่ในราศีกันย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวหัวเนื้อตัวแม่ ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุแต่ชื่อที่เป็นภาษาสันสกฤต แต่ไม่ได้ระบุหมายเลข และชื่อภาษาล้านนา รวมทั้งการเขียนรูปกลุ่มดาวไว้แต่อย่างใด กลุ่มดาวนี้ภาษาไทยกลางว่า ดาวงูเหลือม ดาวเพดานหลัง หรือ ดาวแรดตัวเมีย ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 2 ดวง หรือ 8 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจำปานคร

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากล และที่ระบุไว้ในคัมภีร์สุริยะสิทธานตะ ( Surya-Siddhanta ) ของกลุ่มดาวอุตตรผลคุณ คือ ดาว “ Beta-Leonis “ ในกลุ่มดาวราศีสิงห์ ซึ่งมีตำแหน่งบนแผนที่ดาวติดกับกลุ่มดาวราศีกันย์ตามที่อ้างอิงไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา ดาว “ Beta-Leonis “ มีชื่อเฉพาะว่า “ ดีเนปโบลา ( Denebola ) “ ซึ่งมาจากภาษาอาหรับว่า “ Al Dhanab al Asad “ มีความหมายว่า “ หางสิงห์ “ ชาวจีนถือเอาดาวดวงนี้พร้อมกับดาวข้างเคียงอีก 5 ดวงเป็นกลุ่มดาวที่เรียกว่า “ Wu Ti Too “ มีความหมายว่า “ บัลลังก์แห่งจักรพรรดิ์ทั้งห้า “

ดาวทั้ง 2 ดวง หรือ 8 ดวงของกลุ่มดาวอุตตราผลคุณ จึงน่าจะเป็นดาวสว่างบริเวณ “ หางสิงห์ “ ของกลุ่มดาวราศีสิงห์ ซึ่งอาจรวมถึงดาวสว่างบางดวงในกลุ่มดาวราศีกันย์ด้วย

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Beta-Leonis “ เป็นดาวสีขาว มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มดาวราศีสิงห์ แต่มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 20 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 43 ปีแสง หรือ 407 ล้านล้านกิโลเมตร คัมภีร์สุริยสิทรานตะ ระบุไว้ว่ากลุ่มดาวอุตตราผลคุณ ประกอบด้วย ดาว “ Beta-Leonis “ และ ดาวอีก 4 ดวงบริเวณหัวของหญิงสาวในกลุ่มดาวราศีกันย์ ได้แก่
ดาว Xi-Virginis
ดาว Nu-Virginis
ดาว Pi-Virginis
ดาว Omicron-Virginis

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

13. หัสตะ หรือ หัตถะ
หัสตะ หรือ หัตถะ ในตำราดูดาวฤกษ์ 27 ตัว ว่าชื่อ “ ดาวช้างหลวง “ มีจำนวน 5 ดวง อยู่ในราศีกันย์ แต่ในตารางดาวระบุว่า “ ดาวช้างหลวง “ นี้อยู่กลางราศี หรืออยู่กลางกลุ่มดาวทั้งหลาย และมีจำนวนดาว 5 ดวงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเป็นดาวคนละกลุ่มกัน ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุไว้ว่า ดาวฤกษ์กลุ่มที่ 13 นี้ ชื่อ ดาวศอกคู้ อยู่ในราศีกันย์ และ มีจำนวน 5 ดวงเรียงกันมีลักษณะคล้ายศอกคู้ภาษาไทยกลางเรียกดาวหัสตะว่าเป็น ดาวฝ่ามือ ดาวศอกคู้ ดาวหัวช้าง ดาวช้างถือเป็นกลุ่มดาวประจำเ มืองธัญญวดี ( เมืองยะไข่ )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวหัสตะ คือ ดาว “ Delta-Corvi “ ในกลุ่มดาวนกกา ( Corvus ) ซึ่งมีอาณาเขตต่อกับกลุ่มดาวราศีกันย์ ดาวดวงนี้มีชื่อเฉพาะว่า ดาว “ Algorab “ ดาวทั้ง 5 ดวงตามที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนานั้น
ดาว 3 ดวงบนน่าจะเป็น
ดาว Alpha-Corvi
ดาว Epsilon -Corvi
ดาว Gamma-Corvi
ดาว 2 ดวงล่างน่าจะเป็น
ดาว Beta -Corvi
ดาว Delta-Corvi

ซึ่งดาวทั้ง 5 ดวงนี้สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า และมีลักษณะการวางตัวคล้ายกับที่ระบุไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา

ทางดาราศาสตร์ ดาว Delta-Corvi เป็นสีขาว มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มดาวนกกา แต่มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 75 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 125 ปีแสง หรือ 1,183 ล้านล้านกิโลเมตร เมื่อมองผ่านกล้องดูดาวขนาดเล็กจะสามารถมองเห็นเป็นดาวคู่ได้อย่างชัดเจน

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

14. จิตรา หรือ จตระ
จิตรา หรือ จตระ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวไต้ไฟหลวง แต่ในตารางดาวล้านนาเขียนว่า ไต้ไฟน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวตาจระเข้ ดาวต่อมน้ำ ดาวไต้ไฟ ดาวไฟ เพราะมีดาวสุกใสเพียงดวงเดียว แต่ในตารางดาวนั้น กลุ่มดาวจิตราประกอบด้วยดาวจำนวน 2 ดวง วางตัวในแนวดิ่ง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองเวสาลี

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวจิตรา คือ ดาว “ Alpha-Virginis “ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวราศีกันย์ และมีความสว่างปรากฏมากเป็นลำดับที่ 16 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า มีชื่อเฉพาะว่า “ สไปกา ( Spica ) “ มาจากภาษาละตินว่า “ Spicum “ ซึ่งหมายถึง “ รวงข้าวที่หญิงสาวกำไว้ในมือซ้าย “ คนไทยเรียกดาวดวงนี่ว่า “ ดาวรวงข้าว “ ทางอาหรับเรียก “ Al Simak al A’zal “ มีความหมายว่า “ ผู้ไม่ถืออาวุธ “ ทางเปอร์เซีย ซีเรีย และตุรกี ก็เรียกดาวดวงนี้ในความหมายที่แปลว่า “ รวงข้าว “ เช่นเดียวกัน ทางอินเดียเรียกดาวดวงนี้ว่า “ กันยา ( Kanya ) “ มีความหมายว่าหญิงสาวและพระมารดาของพระกฤษณะ ชาวกรีกและชาวโรมันกำหนดให้ดาวดวงนี้เป็นสัญลักษณ์ของเทพธิดาแห่งการเจริญงอกงามของพืชพรรณไม้
ดาวสว่างดวงหนึ่งที่อยู่ใกล้ดาว “ Alpha-Virginis “ คือ ดาว “ Gamma-Virginis “ ซึ่งน่าจะเป็นดาวอีกดวงหนึ่งในกลุ่มดาวจิตราที่ระบุไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Alpha-Virginis “ เป็นดาวสีน้ำเงิน มีความสว่างปรากฏมาก และมีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 2,800 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 275 ปีแสง หรือ 2,600 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

15. สวาติ หรือ สวาสติ
สวาติ หรือ สวาสติ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวไต้ไฟน้อย แต่ในตารางดาวล้านนาเขียนว่า ดาวไต้ไฟหลวง ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวกระออมน้ำ ดาวช้างพัง ดาวงูเหลือม ดาวดวงแก้ว มีดาวเรียงกัน 5 ดวง ( บางตำราว่า 7 ดวง ) ในตารางดาวระบุว่า ดาวในกลุ่มดาวนี้มี 2 ดวงวางตัวในแนวดิ่ง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองมุลละเขิง ( ไม่ทราบว่าตรงกับเมืองใด )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวสวาติ คือ ดาว “ Alpha-Bootes “ ซึ่งเป็นดาวที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ( Bootes ) และมีความสว่างปรากฏมากเป็นลำดับที่ 4 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า ดาว “ Alpha-Bootes “ มีชื่อเฉพาะว่า “ อาร์คตุรุส ( Arcturus ) “ คนไทยเรียกว่า “ ดาวดวงแก้ว “ หรือ “ ดาวยอดมหาจุฬามณี “ เนื่องจากมีความสว่างมาก และมีสีออกเหลืองทองหรือส้ม คำว่า “ อาร์คตุรุส “ มีความหมายว่า “ ผู้ดูแลหมี “ และเนื่องจากดาวดวงนี้มีความสว่างมากจึงได้มีการกล่าวถึงในวรรณกรรมยุคโบราณพอสมควร ในสมัยโบราณกำหนดความหมายของดาวดวงนี้ว่า “ ผู้เฝ้า “ หรือ “ ผู้พิทักษ์ “ ชาวอาหรับกำหนดความหมายของดาวดวงนี้ว่า “ ผู้ปกป้องดูแลสวรรค์ “ ดาวฤกษ์สว่างที่อยู่ใกล้ดาว “ Alpha-Bootes “ คือ ดาว “ Eta-Bootes “ น่าจะเป็นดาวอีกดวงหนึ่งในกลุ่มดาวสวาติที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนา

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Alpha-Bootes “ เป็นดาวสีส้ม หรือสีเหลืองทอง มีความสว่างปรากฏมาก และมีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 115 เท่า มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 25 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 37 ปีแสง หรือ 350 ล้านล้านกิโลเมตร อาจพอมองเห็นได้ในเวลากลางวันเมื่อส่องด้วยกล้องดูดาว

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

16. วิสาขะ
วิสาขะ อยู่ในราศีตุลย์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวขอบด้ง หรือ ดาวขงมอน ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวแขนนาง ดาวหนองลาด ดาวฆ้อง ดาวคันฉัตร ดาวควาย ดาวเขาควาย ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 4 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจัมปานคร

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาววิสาขะ คือ ดาว “ Iota-Librae “ ในกลุ่มดาวราศีตุลย์ ( Libra ) เป็นดาวที่มีความสว่างปรากฏน้อย แต่บริเวณข้างเคียงมีดาวสว่างใกล้ ๆ 4 ดวง คือ
ดาว Alpha-Librae
ดาว Beta-Librae
ดาว Gamma-Librae
ดาว Delta-Librae

ซึ่งน่าจะเป็นดาวที่ระบุไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Iota-Librae “ เป็นดาวสีขาว แม้จะมีความสว่างปรากฏน้อย แต่มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 60 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 250 ปีแสง หรือ 2,365 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

17. อนุราธะ
อนุราธะ อยู่ในราศีพิจิก ในตำราดูดาวไม่ได้ระบุหรือเขียนภาษาล้านนาไว้ แต่ในตารางดาวล้านนาระบุว่าชื่อ ดาวจักรพระยาอิน ประกอบด้วยกลุ่มดาวจำนวน 5 ดวง มีลักษณะคล้ายแอก ชื่อภาษาไทยกลางระบุไว้คือ ดาวหงอนนาค ดาวธนู ดาวประจำฉัตร ดาวฉัตร ดาวนกยูง ดาวหน้าไม้ กลุ่มดาวนี้ประกอบด้วยดาวจำนวน 14 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองเชตุตรนคร ( เมืองของพระเวสสันดร )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอนุราธะ คือ ดาว “ Delta-Scorpii “ ในกลุ่มดาวราศีพิจิก ( Scorpius ) มีชื่อเฉพาะว่า “ Dschubba “ มาจากภาษาอาหรับ “ Al Jabhah “ หมายความว่า “ ส่วนหัวของแมงป่อง “ บางทีเรียกว่า “ Iklil al Akrab “ มีความหมายว่า “มงกุฏของแมงป่อง“ นอกจากดาว “ Delta-Scorpii “ แล้วดาวฤกษ์อีก 4 ดวงที่ประกอบเป็นส่วนหัวของแมงป่อง และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ
ดาว Beta-Scorpii
ดาว Pi-Scorpii
ดาว Rho-Scorpii
ดาว Nu-Scorpii   

ซึ่งดาวฤกษ์ทั้ง 5 ดวงมีลักษณะการวางตัวคล้ายกับดาว 5 ดวงที่เขียนไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Delta-Scorpii “ เป็นดาวสีน้ำเงิน มีความสว่างปรากฏเป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มดาวราศีพิจิก แต่มีความสว่างจริงมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 3,300 เท่า อยู่ห่างจากโลก 590 ปีแสง หรือ 5,582 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

18. เชฏฐะ
เชฏฐะ อยู่ในราศีพิจิก ทั้งในตำราดูดาว และตารางดาวต่างไม่ระบุชื่อภาษาล้านนาของกลุ่มดาวนี้ เพียงแต่แสดงหมายเลขกำกับกลุ่มดาว และรูปวาดที่ประกอบด้วยดาว 5 ดวง ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองลังกาน้อย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานชื่อว่า ดาวช้างใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยดาว 14 ดวง นอกจากนี้ยังมีชื่อในภาษาไทยกลางอีกว่า ดาวแพะ ดาวช้าง ดาวคอนาค ดาวงาช้าง ดาวงวงช้าง

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวเชฏฐะ คือ ดาว “ Alpha-Scorpii “ ซึ่งเป็นดาวดวงที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวราศีพิจิก ( Scorpius ) มีชื่อเฉพาะว่า “ แอนทารีส ( Antares ) “ มาจากคำภาษากรีก แปลว่า “ คู่แข่งของดาวอังคาร “ อันเนื่องมาจากดาวดวงนี้มีสีแดง และสว่างคล้ายดาวอังคาร คนไทยเรียกดาวดวงนี้ว่า “ ดาวปาริชาติ “ มีตำแหน่งอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่า “ หัวใจแมงป่อง “ คนโรมันเรียก “ Cor Scorpionis “ ซึ่งแปลว่า “ หัวใจแมงป่อง “ เช่นเดียวกัน ชาวจีนเรียกดาวดวงนี้ว่า “ ดาวไฟ “ และเรียกกลุ่มดาวราศีพิจิกทั้งกลุ่มว่า “ มังกร แห่งทิศตะวันออก “

ดาวทั้ง 5 ดวงที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนาน่าจะเป็นดาวสว่างที่อยู่บริเวณ ดาว “ Alpha-Scorpii “ ซึ่งเป็นส่วน “ ตัวแมงป่อง “ คือ
ดาว Alpha-Scorpii
ดาว Sigma-Scorpii
ดาว Tau-Scorpii
ดาว Epsilon-Scorpii
ดาว Mu-Scorpii

ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Alpha-Scorpii “ เป็นดาวสีแดง ที่มีค่าความสว่างปรากฏมากเป็นลำดับที่ 15 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า มีความสว่างแท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 9,000 เท่า มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 700 เท่า และอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 520 ปีแสง หรือ 4,920 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

19. มูละ หรือ สัตตพิสมูละ
มูละ หรือ สัตตพิสมูละ อยู่ในราศีธนู มีชื่อในภาษาล้านนาว่า ดาวช้างน้อย ตรงกับชื่อภาษาไทยกลาง นอกจากนี้ยังมีชื่อดาวไทยอีกว่า ดาวสะดือนาค ดาวแมง ประกอบด้วยดาวฤกษ์เรียงกัน 6 ดวงในตารางดาวล้านนา ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจุฬนี ( แคว้นตังเกี๋ย )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวมูละ คือ ดาว “ Lambda-Scorpii “ ในกลุ่มดาวราศีพิจิก ( Scorpius ) บริเวณนี้เรียกว่าเป็น “ ส่วนหาง “ ของแมงป่อง ซึ่งมีอาณาเขตใกล้เคียงกับกลุ่มดาวราศีธนู ( Sagittarius ) มาก ดาวดวงนี้มีชื่อเฉพาะว่า “ Shaula “ มาจากภาษาอาหรับ มีความหมายว่า “ เหล็กไน “

ดาวทั้ง 6 ดวงที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนาน่าจะเป็นดาวฤกษ์สว่างบริเวณส่วนหางของดาวแมงป่อง คือ
ดาว Lambda-Scorpii
ดาว Kappa-Scorpii
ดาว Iota-Scorpii
ดาว Upsilon-Scorpii
ดาว Theta-Scorpii
ดาว Eta-Scorpii

ซึ่งมีลักษณะการวางตัวโค้งเหมือนหางแมงป่อง
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Lambda-Scorpii “ เป็นดาวสีน้ำเงิน มีความสว่างปรากฏเป็นลำดับที่ 24 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า ความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 1,700 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 310 ปีแสง หรือ 2,933 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

20. ปุพพสาฒะ
ปุพพสาฒะ อยู่ในราศีธนู ในตำราดูดาวว่าชื่อ ดาวปลายช้าง ส่วนในแผนที่ตารางดาวล้านนาใช้ชื่อว่า ดาวชีไฟ ซึ่งมีจำนวน 4 ดวง ดาวฤกษ์นี้ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ดาวสัปคับช้าง ดาวปากนก ดาวช้างตัวผู้ ดาวราชสีห์ผู้ ดาวแรดตัวเมีย และ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองจันทบุรี ( เวียงจัน )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุพพสาฒะคือ ดาว “ Delta-Sagittarius “ ในกลุ่มดาวราศีธนู ( Sagittarius ) มีชื่อเฉพาะว่า “ Media “ หรือ “ Kaus Meridianalis “ มีความหมายว่า “ กึ่งกลางของคันธนู “ ดาวทั้ง 4 ดวงที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนาน่าจะเป็นส่วนที่เรียกว่า “ คันธนู “ ได้แก่
ดาว Delta-Sagittarius
ดาว Gamma-Sagittarius
ดาว Epsilon-Sagittarius
ดาว Eta-Sagittarius

ซึ่งมีลักษณะการวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยม
ทางดาราศาสตร์ ดาว “Delta-Sagittarius “ เป็นดาวสีแดง มีความสว่างปรากฏเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่มดาวราศีธนู ความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 60 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 85 ปีแสง หรือ 804 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
ที่มา:
http://www.astroschool.in.th/public/story/lannamenu6_ans_inc.php

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 25, 2011, 09:01:57 AM โดย inbudgetadmin »