ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 3  (อ่าน 6286 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

inbudgetadmin

  • Administrator
  • Professional
  • *****
  • กระทู้: 110
  • Karma: +5/-1
กลุ่มดาวของไทย 27 กลุ่ม - 3
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2011, 09:03:45 AM »
21. อุตตราสาฒะ
อุตตราสาฒะ อยู่ในราศีมกร มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวปลายหางช้าง แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนามิได้แสดงกลุ่มดาวนี้ไว้ กลุ่มดาวฤกษ์นี้ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวแตรงอน ดาวราชสีห์ตัวเมีย ดาวครุฑ ดาวช้างตัวเมีย ดาวแตรทอง ดาวแรดตัวผู้ และกล่าวว่ามีดาวจำนวน 5 ดวง และ ถือเป็นกลุ่มดาวประจำเมืองโบราณนคร

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอุตตราสาฒะคือ ดาว “ Sigma-Sagittarii “ ในกลุ่มดาวราศีธนู ( Sagittarius ) มีชื่อเฉพาะว่า “ Nunki “ มาจากภาษาบาบิโลเนีย มีความหมายว่า “ ดาวแห่งการสรรเสริญท้องทะเล “ การปรากฏดาวดวงนี้บนท้องฟ้าทำให้ทราบว่าในไม่ช้าจะปรากฏกลุ่มดาวที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น กลุ่มดาวแพะทะเล กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ กลุ่มดาวปลา ตลอดจนกลุ่มดาวปลาวาฬยักษ์ตามขึ้นมา ดาว “ Sigma-Sagittarii “ มีชื่อเฉพาะอีกชื่อหนึ่งว่า “ Sadira “ ชาวจีนโบราณกำหนดดาวดวงนี้กับดาวข้างเคียงอีก 3 ดวงเป็นรูป “ ทัพพีตักข้าว “ บางทีกำหนดเป็นรูป “ หิ้งบูชา”
ดาวฤกษ์สว่าง 5 ดวงที่อยู่บริเวณนี้ในแผนที่ดาวสากลได้แก่
ดาว Sigma-Sagittarii
ดาว Tau-Sagittarii
ดาว Phi-Sagittarii
ดาว Zeta-Sagittarii
ดาว Lambda-Sagittarii

ทางดาราศาสตร์ ดาว “Sigma-Sagittarii “ เป็นดาวสีน้ำเงิน ความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1,000 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 300 ปีแสง หรือ 2,838 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

22. สราวณะ
สราวณะ อยู่ในราศีมกร ในตำราดูดาว ว่าภาษาล้านนาใช้ชื่อ ดาวคานหามผี แต่ในแผนที่ตารางดาวล้านนาระบุชื่อว่า ดาวขอไล่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปเหมือนศอกคู้ ซึ่งในภาษาไทยกลางเรียกชื่อว่า ดาวหลักชัย ดาวหามผี ดาวโลง ดาวคนหามหมู ดาวคนจำศีล ดาวฤาษี ดาวหลักชัยฤาษี และ ถือเป็นดาวประจำเมืองอักโขเพณี ( ไม่ทราบว่าตรงกับเมืองใด )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวสราวณะ คือ ดาว “ Alpha-Aquilae “ ในกลุ่มดาวนกอินทรี ( Aquila ) ซึ่งอยู่ติดกับกลุ่มดาวราศีมกร ( Capricornus ) ดาวดวงนี้มีชื่อเฉพาะว่า “ อัลแทร์ ( Altair ) “ มีตำแหน่งอยู่บริเวณที่เป็น “ ตานกอินทรี “ มีความสว่างปรากฏมากที่สุดในกลุ่มดาวนี้ และเป็นลำดับที่ 12 ของบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า

ดาวทั้ง 4 ดวงที่เรียงกันเป็นรูปเหมือนศอกคู้ ในแผนที่ตารางดาวล้านนาจะสอดคล้องกับดาวสว่างบริเวณกลุ่มดาวนกอินทรี 4 ดวงได้แก่
ดาว Alpha-Aquilae
ดาว Beta-Aquilae
ดาว Gamma-Aquilae
ดาว Delta-Aquilae

ทางดาราศาสตร์ ดาว “Alpha-Aquilae “ เป็นดาวสีขาว มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1.5 เท่า มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 9 เท่า และอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 16 ปีแสง หรือ 151 ล้านล้านกิโลเมตร จัดเป็นดาวฤกษ์สว่างที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรา

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

23. ธนิษฐะ หรือ ธนิฏฐะ
ธนิษฐะ หรือ ธนิฏฐะ ในตารางดาวล้านนาระบุว่าอยู่ในราศีมกร และมีชื่อในภาษาล้านนาว่า ดาวไซ หรือ ดาวเพียง แต่ในตำราดูดาวว่าชื่อ ดาวกีบกวาง และให้อยู่ในราศีกุมภ์ ภาษาไทยกลางเรียกว่า ดาวกา ดาวไซ ดาวยักษ์ ดาวช้างใหญ่ ดาวพาทย์ฆ้อง ดาวเศรษฐี กลุ่มดาวนี้กำหนดให้มีดาวจำนวน 4 ดวงเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และ ถือเป็นดาวประจำเมืองราชคฤหะ ( ราชคฤ )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวธนิฏฐะ คือ ดาว “ Beta-Delphini “ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มดาวปลาโลมา ( Delphinus ) ซึ่งอยู่ติดกับกลุ่มดาวราศีมกร(Capricornus ) และกลุ่มดาวราศีกุมภ์ ( Aquarius ) กลุ่มดาวปลาโลมานี้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ของกรีกและจีนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แม้ในบันทึกทางศาสนาคริสต์ของฮิบรูก็กล่าวถึงกลุ่มดาวนี้ไว้ด้วย ชาวอาหรับกำหนดสัญญลักษณ์ของกลุ่มดาวนี้เป็นรูป “ อูฐ “ มีชื่อเฉพาะเรียกว่า “ Al Ka’ud “

เมื่อเทียบดาว 4 ดวงที่เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแผนที่ตารางดาวล้านนากับแผนที่ดาวสากลบริเวณกลุ่มดาวปลาโลมา ดาวทั้ง 4 ดวงนั้น น่าจะเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวปลาโลมา ซึ่งมีการวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เช่นกัน คือ
ดาว Alpha-Delphini
ดาว Beta-Delphini
ดาว Gamma-Delphini
ดาว Delta-Delphini

ทางดาราศาสตร์ ดาว “Beta-Delphini “ เป็นดาวสีเหลือง มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 36 เท่า และอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 125 ปีแสง หรือ 1,183 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

24. ศตภิษะ หรือ สัตตพิสะ
ศตภิษะ หรือ สัตตพิสะ อยู่ในราศีกุมภ์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวช้างน้อย ในตารางดาวล้านนากำหนดหมายเลขดาวฤกษ์กลุ่มนี้ไว้ และมีรูปดาว 3 ดวง แต่ไม่ได้ระบุชื่อไว้ด้วย ชื่อภาษาไทยกลางคือ ดาวมังกร ดาวพิมพ์ทอง ดาวพิณทอง ดาวเศรษฐี ดาวงูเลื้อย ดาวยักษ์ และ ถือเป็นดาวประจำเมืองโกสัมพี

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวศตภิษะ คือ ดาว “ Lambda-Aquarii “ ในกลุ่มดาวราศีกุมภ์ ( Aquarius ) ซึ่งเป็นดาวที่มีความสว่างปรากฏไม่มาก แต่มีตำแหน่งอยู่บนเส้นสุริยะวิถีพอดี ลักษณะการวางตัวของดาวดวงนี้กับดาวสว่างข้างเคียงในแผนที่ดาวสากลแตกต่างจากลักษณะการวางตัวของดาว 3 ดวงที่ระบุไว้ในแผนที่ตารางดาวล้านนา จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ดาว 3 ดวงดังกล่าวคือดาวดวงใดบ้างในแผนที่ดาวสากล
ทางดาราศาสตร์ ดาว “ Lambda-Aquarii “ เป็นดาวสีแดง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 231 ปีแสง หรือ 2,190 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

25. ปุพพภัทระ
ปุพพภัทระ อยู่ในราศีกุมภ์ มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวพิดานหลวง ซึ่งมีจำนวน 4 ดวง ตรงกับดาวหัวเนื้อทรายซึ่งมีดาวอยู่ 2 ดวง ( ในตารางดาวล้านนากำหนดให้กลุ่มดาวนี้เป็นกลุ่มดาวที่ 26 ) ชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวราชสีห์ผู้ ดาวแรดผู้ ดาวหัวเนื้อทราย ดาวเพดาน และ ถือเป็นดาวประจำเมืองอินทปัตตนคร ( เมืองขอม )

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวปุพพภัทระคือ ดาว “ Alpha-Pegasi “ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างที่สุดในกลุ่มดาวม้าปีก ( Pegasus ) ซึ่งมีอาณาเขตติดกับกลุ่มดาวราศีกุมภ์ ( Aquarius ) ดาวดวงนี้มีชื่อเฉพาะว่า “ Markab “ หรือ “ Marchab “ มาจากภาษาอาหรับมีความหมายว่า “ อานม้า “ บางครั้งก็เรียก “ Matn al Faras “ มีความหมายว่า “ ไหล่ของม้า “ ดาวทั้ง 2 ดวงที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนาสำหรับกลุ่มนี้น่าจะเป็น
ดาว Alpha-Pegasi
ดาว Beta-Pegasi

ทางดาราศาสตร์ ดาว “Alpha-Pegasi “ เป็นดาวฤกษ์ที่มีสีขาว มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 95 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 110 ปีแสง หรือ 1,040 ล้านล้านกิโลเมตร

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

26. อุตตรภัทระ
อุตตรภัทระ อยู่ในราศีมีน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวแม่เนื้อ แต่ในตารางดาวล้านนาไม่ปรากฏชื่อของกลุ่มดาวนี้ มีชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวราชสีห์ตัวเมีย ดาวแรดเมีย ดาวไม้เท้า ดาวใบเสา และดาวเพดาน ซึ่งประกอบด้วยดาว 2 ดวง ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองกบิลพัสถุ์

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวอุตตรภัทระ คือ ดาว “ Gamma-Pegasi “ ในกลุ่มดาวม้าปีก ( Pegasus ) และดาว “ Alpha-Andromeda “ ในกลุ่มดาวอันโดรเมดา ( Andromeda ) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ใกล้กลุ่มดาวราศีมีน ( Pisces )

ดาว “ Gamma-Pegasus “ มีชื่อเฉพาะว่า “ Algenib “ มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า “ ปีก “ เป็นดาวสีน้ำเงิน มีความสว่างปรากฏเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มดาวม้าปีก มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 1,900 เท่า อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 570 ปีแสง หรือ 5,392 ล้านล้านกิโลเมตร ส่วนดาว “ Alpha-Andromeda “ มีชื่อเฉพาะว่า “ Alpheratz “ เดิมเคยเป็นดาวที่จัดอยู่ในกลุ่มดาวม้าปีก ในแผนที่ดาวสากลในปัจจุบันกำหนดให้อยู่ในกลุ่มดาวอันโดรเมดา เป็นดาวที่มีความสว่างปรากฏมากที่สุดในกลุ่มดาวนี้ มีความสว่างที่แท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ 160 เท่า มีสีขาวแกมน้ำเงิน อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 120 ปีแสง หรือ 1,135 ล้านล้านกิโลเมตร

ทั้งดาว “ Gamma-Pegasi “ และ “ Alpha-Andromeda “ ซึ่งเป็นดาว 2 ดวงที่ระบุในกลุ่มดาวอุตตภัทระ ซึ่งเมื่อรวมกับดาว “ Alpha-Pegasi “ และ “ Beta-Pegasi “ ในกลุ่มดาวปุพพภัทระ จะมีลักษณะการวางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีชื่อว่า “ ดาวสี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่ ( Great Square ) “ ในแผนที่ดาวสากล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

27. เรวตี
เรวตี อยู่ในราศีมีน มีชื่อภาษาล้านนาว่า ดาวปลาซะเพียน ซึ่งในแผนที่ตารางดาวล้านนาเขียนเป็นดาวจำนวน 10 ดวงเรียงกันเป็นวงรี ชื่อภาษาไทยกลางว่า ดาวปลาตะเพียน ดาวหญิงมีครรภ์ ดาวนาง ดาวนางพญา และ ถือเป็นดาวฤกษ์ประจำเมืองกุสินารา

ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของกลุ่มดาวเรวตี คือ ดาว “ Zeta-Piscium “ ในกลุ่มดาวราศีมีน ( Pisces ) ดาวดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างปรากฏน้อย แต่ยังมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีสีแดง และมีขนาดจริงค่อนข้างใหญ่

ดาวทั้ง 10 ดวงที่ระบุในแผนที่ตารางดาวล้านนา มีลักษณะเป็นแนวยาว 2 แนว แนวละ 5 ดวง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการวางตัวของดาวสว่างที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของกลุ่มดาวราศีมีนทั้งกลุ่มในแผนที่ดาวสากล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
ที่มา:
http://www.astroschool.in.th/public/story/lannamenu6_ans_inc.php